คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3045/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินมาวางศาลภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันทำยอมแล้วจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันชำระเงิน แต่เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาวางเงินแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอไม่วางเงินอ้างว่าที่ดินพิพาทถูก น. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยอีกคดีหนึ่งยึดไว้ ทำให้จำเลยไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากรณีเป็นการแก้ไขคำพิพากษาตามยอมไม่อาจสั่งให้โจทก์ไม่วางเงินได้ ดังนี้แม้จะปรากฏว่าในคดีแพ่งที่ น. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทและศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า การที่โจทก์ยังไม่ได้วางเงินเพราะจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญายอมได้ เนื่องจากน. ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทไว้ก่อน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญายอม และโจทก์มีสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนจึงให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองเรื่องนี้ก็ไม่ขัดกันเพราะประเด็นในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องวางเงินภายในกำหนดเวลาตามคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้ แต่ประเด็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องถอนการยึดทรัพย์ แม้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าวจะกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญายอมก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงกล่าวอ้างถึงเหตุอันสมควรถอนการยึดที่ดินพิพาทเท่านั้น กรณีจึงมีประเด็นพิพาทต่างกัน และผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีก็เป็นคนละเรื่องกัน หาขัดแย้งกันไม่ โจทก์จึงไม่ชอบที่จะนำคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าวมาอ้างในคดีนี้เพื่อขอวางเงินตามคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้ได้อีก

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญา และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินจำนวน 1,800,000 บาท มาวางศาลภายใน 3 เดือนนับแต่วันทำยอมแล้วจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันชำระเงิน แต่เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาวางเงินตามสัญญายอมแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอไม่วางเงิน อ้างว่าที่ดินพิพาทถูกนายชัย โค้งศรีวงษ์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 437/2531 ของศาลชั้นต้น ยึดไว้ ทำให้จำเลยไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นว่า กรณีเป็นการแก้ไขคำพิพากษาตามยอม ไม่อาจสั่งให้โจทก์ไม่วางเงินได้ นอกจากโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังได้ยื่นคำร้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 437/2531 ของศาลชั้นต้นที่นายชัยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยว่า โจทก์อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 นายชัยไม่มีอำนาจบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทได้ ขอให้งดการขายทอดตลาดและถอนการยึดทรัพย์ปรากฏว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการที่โจทก์ยังไม่ได้วางเงินเพราะจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมได้ เนื่องจากนายชัยได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทไว้ก่อน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญายอม และโจทก์มีสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แม้ที่ดินพิพาทจะมีชื่อเป็นของจำเลยอยู่ และนายชัยได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทไว้ก่อนแล้วก็ตามแต่นายชัยจะมาบังคับคดียึดที่ดินพิพาทให้กระทบกระทั่งสิทธิของโจทก์อันอาจขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นหาได้ไม่ และศาลฎีกาพิพากษาให้ถอนการยึดที่ดินพิพาท โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2534 ขอวางเงินค่าที่ดินจำนวน 1,800,000 บาท เพื่อชำระค่าที่ดินพิพาทให้จำเลยตามคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้อีก
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาในชั้นฎีกามีว่า หลังจากศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5039/2533 ระหว่างนายชัย โค้วศรีวงษ์หรือโค้วศรีวงศ์โจทก์ นายอนุวัฒน์ บัวพรหมมี ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนายไคล บัวพรหมมี จำเลยและนายกำแพง เพลินธรรม ผู้ร้องแล้วโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจะกลับมีสิทธิวางเงินจำนวน 1,800,000 บาท เพื่อชำระค่าที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม2531 หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์ฎีกาความว่าแม้ในคดีนี้จะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิวางเงินค่าที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 4023/2533 แต่ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 5039/2533 ในอีกคดีหนึ่ง วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นกรณีที่คำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งสองขัดกันโจทก์จึงมีสิทธิวางเงิน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งสองขัดกันหรือไม่เห็นว่า ผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองเป็นคนละเรื่องกัน กล่าวคือประเด็นพิพาทตามคำพิพากษาศาลฎีกา คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อสัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยฉบับลงวันที่ 19 ธันวาคม 2531 โดยโจทก์จะต้องนำเงินจำนวน 1,800,000 บาทมาวางศาลภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก่อน แล้วจำเลยจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงิน ส่วนประเด็นพิพาทตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5039/2533 เป็นเรื่องถอนการยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเหตุผลสำคัญที่ศาลฎีกาให้ถอนการยึดคือ โจทก์คดีนี้หรือผู้ร้องในคดีดังกล่าวมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 นายชัยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวนั้นจะบังคับคดีที่ดินพิพาทให้กระทบกระทั่งสิทธิของโจทก์ในคดีนี้อันอาจขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 เท่านั้น ดังนั้น แม้คำพิพากษาศาลฎีกาตามที่โจทก์อ้างจะได้กล่าวถึงโจทก์ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงกล่าวถึงเหตุให้เห็นว่ามีเหตุอันควรให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทหรือไม่เท่านั้น กรณีจึงมีประเด็นพิพาทต่างกัน คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองไม่ขัดกัน โจทก์จะนำคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเรื่องอื่นนั้นมาอ้างในคดีนี้ไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอวางเงินตามคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2534 ซึ่งเกินกำหนดเวลาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะวางเงินได้
พิพากษายืน

Share