แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การดำเนินการค้าแบบเดียวกันนี้ผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นได้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดม. เครือเดียวกับบริษัทโจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยมาประมาณ 20 ปีแล้ว โจทก์นำสืบให้เห็นได้ว่า สินค้าพิพาทมีราคาตามที่โจทก์สำแดงไว้แต่แรก แทนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจะนำราคาสินค้าที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดม. เคยสั่งเข้ามาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2511 ตลอดมาจนถึงปัจจุบันมาเปรียบเทียบราคาเพื่อหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาด กลับประเมินราคาสินค้าพิพาทโดยถือเกณฑ์ให้แตกต่างไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาสินค้ายี่ห้ออื่นตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527 ทั้งที่ราคาที่นำมาเปรียบเทียบนั้นมิใช่ชนิดเดียวกัน คุณภาพอาจแตกต่างกันเป็นการประเมินราคาสินค้าที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล ไม่สอดคล้องกับคำจำกัดความว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตาม พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 2 อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยก็ยกขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ได้ เมื่อจำเลยได้รับมอบหมายจากกรมสรรพากร ให้เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล การที่จำเลยเรียกเก็บเกินจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกส่วนที่เก็บเกินคืนได้โดยหาต้องฟ้องกรมสรรพากรด้วยไม่ สำหรับสินค้าที่โจทก์เป็นผู้ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเกินเองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้ประเมิน หาใช่เป็นการฟ้องเรียกคืนเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินโดยมิชอบไม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าขาเข้าตามฟ้องและคืนเงินค่าภาษีอากรและดอกเบี้ยรวม 1,021,074.78 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 943,289 บาท นับจากวันฟ้องถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า ราคาสินค้าที่ประเมินเพิ่มขึ้นนี้เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ทั้งโจทก์ก็ยอมชำระตามราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมิน และมิได้โต้แย้งราคาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรที่อ้างว่าต้องเสียเพิ่ม โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินตามใบขนสินค้าขาเข้า เอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข 18 และ 19 คือ ฉบับเลขที่ 041-61816 และ เลขที่ 061-41396เฉพาะอากรขาเข้า ให้จำเลยคืนเงินค่าอากรขาเข้าที่โจทก์ชำระเกินไปตามใบขนสินค้าขาเข้าทุกฉบับ และคืนภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับที่ 3-12 คือ ฉบับเลขที่071-60412, 071-62653, 081-63230, 091-63462, 111-60321,022-61067, 032-63800, 062-64259, 082-40451 และ082-62497 แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินภาษีอากรที่จำเลยจะต้องคืนนับแต่วันที่โจทก์ชำระภาษีอากรเกินไปจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้สั่งสินค้าประเภทเครื่องไฟฟ้าใช้กับรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อปี 2531 ถึง 2532 โจทก์ได้นำเข้าสินค้าประเภทอะไหล่ทดแทนอะไหล่แท้ ยี่ห้อ เอฟ.ดี.รวม 12 ครั้งโจทก์ได้สำแดงราคาสินค้าในใบขนสินค้าตามใบตราส่งและบัญชีราคาสินค้าแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ยอมรับราคา แล้วอาศัยคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527 สั่งให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้าโดยเทียบกับราคาอะไหล่ทดแทนอะไหล่แท้ ยี่ห้อนิวอีราโดยต้องเพิ่มราคาสินค้าขึ้นอีก 13.79 เปอร์เซ็นต์ตามใบขนสินค้าทั้ง 12 ฉบับโจทก์จึงได้ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามจำนวนที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า และวางเงินประกันสำหรับค่าภาษีอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินเพิ่มเติมเฉพาะการนำเข้าใน 2 ฉบับแรก ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งประเมินอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลสำหรับใบขนสินค้าขาเข้า 2 ฉบับนั้น ให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติม104,083 บาท และ 154,798 บาท ส่วนการนำเข้าตามใบขนสินค้า10 ฉบับหลัง โจทก์ได้เพิ่มราคาสินค้าตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เคยประเมินไว้เมื่อโจทก์นำสินค้าเข้าตามใบขนสินค้า2 ฉบับแรกและชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มรวมเป็นเงิน 5,720,158 บาท โดยโจทก์ได้สงวนสิทธิโต้แย้งราคาไว้ด้านหลังของใบขนสินค้า 10 ฉบับหลัง ก่อนที่จำเลยจะส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ว่าจะยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษีอากรในส่วนที่เกินเป็นเงิน 684,408 บาท สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่โจทก์อ้างว่าชำระเกินนั้น โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และวินิจฉัยปัญหาการประเมินค่าภาษีอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ กำหนดไว้ว่าการคำนวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของ ราคาของ และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีเกิดขึ้นในเรื่องของราคาของได้กำหนดความหมายไว้ในมาตรา 2 ว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาแห่งของอย่างใดนั้น หมายความว่าราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด โจทก์มีพยานนำสืบให้เห็นได้ว่าสินค้าพิพาทมีราคาตามที่โจทก์ได้สำแดงไว้แต่แรก การประเมินราคาสินค้าพิพาทพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแทนที่จะนำราคาสินค้าที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์เคยสั่งเข้ามาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2511 ตลอดมาจนถึงปัจจุบันมาเปรียบเทียบราคาเพื่อหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกลับประเมินราคาสินค้าพิพาทโดยถือเกณฑ์ให้แตกต่างกันไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาสินค้ายี่ห้อนิวอีรา ตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527 ซึ่งสินค้าที่นำมาเปรียบเทียบนั้นมิใช่ชนิดเดียวกัน คุณภาพอาจแตกต่างกันจึงเป็นการประเมินราคาสินค้าที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล ไม่สอดคล้องกับคำจำกัดความของคำว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 2 ราคาสินค้าพิพาทที่โจทก์สำแดงไว้ในตอนแรกจึงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมิชอบ และวินิจฉัยปัญหาโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้า 10 ฉบับหลังหรือไม่ว่า ในปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ได้ และในข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล จำเลยเป็นเพียงผู้เก็บแทนกรมสรรพากร โจทก์ต้องฟ้องเรียกคืนจากกรมสรรพากรนั้นเห็นว่า เมื่อจำเลยได้รับมอบหมายจากกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล การที่จำเลยเรียกเก็บเกินจากโจทก์โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกส่วนที่เก็บเกินคืนได้โดยหาจำต้องฟ้องกรมสรรพากรด้วยไม่ และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ไม่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม มาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้า 10 ฉบับหลังนี้ โจทก์เป็นผู้ชำระเกินเองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้ประเมิน หาใช่เป็นการฟ้องเรียกคืนเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินโดยมิชอบไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน