แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างเท่านั้น มิได้กำหนดเรื่องการจ่ายเงินบำเหน็จแต่อย่างใด ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากนายจ้างหรือไม่เพียงใด ย่อมต้องแล้วแต่ระเบียบข้อบังคับของนายจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้กำหนดไว้คดีนี้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ได้กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างแต่ได้กำหนดให้จำเลยจ่ายเพียงเงินชดเชยเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินบำเหน็จจากจำเลย แม้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจะได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ลูกจ้างได้รับเงินชดเชยในกรณีลาออกไว้ด้วยก็เป็นการกำหนดเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเฉพาะกรณีเลิกจ้างเท่านั้นก็ตาม แต่การกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้เป็นคุณแก่ลูกจ้างมากกว่า จึงไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานแต่อย่างใด เมื่อจำเลยจ่ายเงินชดเชยตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(3) กำหนดไว้ เงินชดเชยดังกล่าวจึงเป็นค่าชดเชยไม่อาจจะแปลว่าเป็นเงินบำเหน็จ ดังที่โจทก์อ้างได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยซ้ำอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยมาจนครบเกษียณอายุตำแหน่งสุดท้ายคือ หัวหน้าส่วนพยาบาลฝ่ายบุคคล ได้รับค่าจ้างเดือนละ 14,720 บาท รวมระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลย16 ปี 3 เดือน 14 วัน หรือ 196 เดือน ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณกับจำนวนเดือนหารด้วย 12 คิดเป็นเงิน 240,426.66 บาท แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง 222,980 บาท เมื่อหักแล้วจำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์อีก 17,526.66 บาท และเนื่องจากโจทก์ทำงานให้กับจำเลยไม่น้อยกว่า3 ปี ติดต่อกัน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน คิดเป็นเงิน 88,320 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้โจทก์ หลังจากที่โจทก์เกษียณอายุแล้ว จำเลยยังได้จ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งบุรุษพยาบาล และเมื่อครบกำหนดแต่ละปีแล้วจำเลยก็ต่อสัญญาให้โจทก์รวม 3 ปี เมื่อจำเลยเลิกจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน คิดเป็นเงิน98,052 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ทำงานตั้งแต่ต้นจนถึงเกษียณอายุเป็นเงิน 88,320 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ทำงานหลังจากเกษียณอายุเป็นเงิน 98,052 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จที่ยังค้างชำระ 17,526.66บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลยแต่ได้ออกจากงานเนื่องจากครบเกษียณอายุ 55 ปี จำเลยได้จ่ายเงินชดเชยให้โจทก์ไปครบถ้วนตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยแล้ว ตามระเบียบข้อบังคับเดิมของจำเลยให้จ่ายเงินชดเชยในกรณีที่พนักงานต้องออกจากงานไป 2 กรณี คือ เมื่อพนักงานลาออก หรือจำเลยให้ออกโดยกำหนดให้จ่ายเงินชดเชยสูงกว่าอัตราค่าชดเชยที่กฎหมายกำหนดไว้ การที่จำเลยจ่ายเงินชดเชยจำนวน 222,900 บาท เป็นจำนวนที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้และโจทก์มิได้โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจำนวน 88,320 บาท ซ้ำอีก ส่วนที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยจ่ายเงินผิดไปจากระเบียบข้อบังคับโดยจ่ายเงินขาดไป 17,526.66 บาท นั้นไม่เป็นความจริงเพราะตามประกาศปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานและวิธีคิดคำนวณเงินชดเชยใหม่ตามประกาศของจำเลยฉบับที่ 4/2525ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2525 การคิดเงินชดเชยตามประกาศใหม่นี้เป็นประโยชน์แก่พนักงานมากกว่าเดิมและพนักงานของบริษัทก็มิได้โต้แย้งไว้ และการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าคราว ๆ ไป หลังจากเกษียณอายุแล้วรวม 3 ครั้ง เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย และโจทก์เองก็ทราบดี โดยยอมตกลงไม่เรียกร้องและรับเงินชดเชย รวมทั้งเงินค่าตอบแทนใด ๆ จากจำเลยตามสัญญาจ้างทำงาน ข้อ 6 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยอีกและการที่โจทก์ออกจากงานไปตามสัญญานี้ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสอง และสัญญาจ้างทั้งสามฉบับนั้นรวมกันแล้วยังไม่ครบ3 ปี ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยจำนวน98,052 บาท ให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.1 และ ล.2 อันเป็นระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานของจำเลยกับเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4ซึ่งเป็นประกาศของจำเลยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณผลประโยชน์ต่าง ๆ และโครงสร้างเงินเดือนใหม่ของจำเลยมิได้กล่าวถึงเงินบำเหน็จแต่อย่างใด คงกล่าวถึงเงินชดเชย เงินจำนวน 222,900 บาท ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์จึงเป็นการจ่ายค่าชดเชย การจ่ายเงินชดเชยนี้เป็นประโยชน์แก่โจทก์มากกว่าการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 กรณีจึงถือได้ว่าการจ่ายเงินชดเชยของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.5 เป็นการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับแล้ว ส่วนค่าชดเชยหลังเกษียณอายุจำเลยต้องจ่ายให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยหลังจากเกษียณอายุให้แก่โจทก์เป็นเงิน 98,052 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “การจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างกรณีเลิกจ้างนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างเท่านั้น มิได้กำหนดเรื่องการจ่ายเงินบำเหน็จแต่อย่างใดดังนั้น ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากนายจ้างหรือไม่เพียงใด ย่อมต้องแล้วแต่ระเบียบข้อบังคับของนายจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้กำหนดไว้ ในคดีนี้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ได้กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง แต่ได้กำหนดให้จำเลยจ่ายเพียงเงินชดเชยเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินบำเหน็จจากจำเลย และแม้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจะได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ลูกจ้างได้รับเงินชดเชยในกรณีลาออกไว้ด้วย ก็เป็นการกำหนดเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเฉพาะกรณีเลิกจ้างเท่านั้นก็ตาม แต่การกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้เป็นคุณแก่ลูกจ้างมากกว่า จึงไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของโจทก์เป็นเรื่องออกจากงานเพราะเลิกจ้างซึ่งตรงกับหลักเกณฑ์ค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวโดยระเบียบข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.3 ข้อ 6(ข) กำหนดหลักเกณฑ์การคิดคำนวณเงินชดเชยในกรณีที่จำเลยให้ลูกจ้างออกจากงานไว้ว่า
“ข-1 มีอายุงานน้อยกว่า 1 ปี จะได้รับเงินชดเชยเท่ากับเงินเดือนประจำ 1 เดือน
ข-2 มีอายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 3 ปี จะได้รับเงินชดเชยเท่ากับเงินเดือนประจำ 3 เดือน
ข-3 มีอายุงานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจนถึง 6 ปี จะได้รับเงินชดเชยเท่ากับเงินเดือนประจำ 6 เดือน
ข-4 มีอายุงานมากกว่า 6 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยเท่ากับเงินเดือนประจำ 6 เดือน บวกกับ (อายุงานนับเป็นเดือนลบเจ็ดสิบสองหารด้วยสิบสอง) คูณกับส่วนประกอบต่าง ๆ เช่นเดียวกับ (5) “เช่นนี้จะเห็นได้ว่า เงินชดเชยที่ลูกจ้างของจำเลยได้รับจะไม่น้อยกว่าค่าชดเชยตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวกำหนดไว้ ประกอบกับหลักเกณฑ์การคิดคำนวณเงินชดเชยตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยก็คล้ายกับหลักเกณฑ์ตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวกำหนดไว้อีกทั้งลูกจ้างก็ได้รับผลประโยชน์มากกว่าด้วย เมื่อจำเลยจ่ายเงินชดเชยตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(3)กำหนดไว้เงินชดเชยดังกล่าวจึงเป็นค่าชดเชย ไม่อาจที่จะแปลว่าเงินชดเชยดังกล่าวเป็นเงินบำเหน็จดังที่โจทก์อ้างได้ ฉะนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยซ้ำอีก ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน