คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2427/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประกาศยึดทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 นำไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์นั้นมีข้อความให้ยึดทรัพย์เฉพาะโจทก์ร่วมที่ 1 ในฐานะจำเลยในคดีแพ่งเท่านั้น แม้จะมีข้อความต่อท้ายชื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ว่าโดยโจทก์ร่วมที่ 2 กรรมการบริษัทก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำการยึดทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 2 ด้วย เพราะโจทก์ร่วมที่ 2 ในฐานะกรรมการของโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ฎีการ่วมกับโจทก์ร่วมที่ 1 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่มีการยึดทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 1 เพราะมีการชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีแล้วประกาศยึดทรัพย์ก็ถูกยกเลิกไปทันที การนำภาพถ่ายประกาศยึดทรัพย์ ไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์อีกเพื่อแสดงว่าได้มีการยึดทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 1แล้ว ข้อความดังกล่าวจึงเป็นความเท็จ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไม่ได้ตรวจข้อความดังกล่าวก่อนเพราะเห็นว่าเป็นเอกสารราชการ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีเจตนากระทำความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้จ้างให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์บ้านเมืองรายวันโฆษณาหมิ่นประมาทใส่ความบริษัทโตโยต้า เค.มอเตอร์ส ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด และพันตำรวจตรีกมล ชโนวรรณ ผู้เสียหายให้โฆษณาข้อความลงในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับลงวันที่ 22 และ 26กุมภาพันธ์ 2530 โดยมีข้อความว่า “ประกาศยึดทรัพย์กองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สิน กรมบังคับคดี คดีหมายเลขแดงที่ 26644/2529ของศาลแพ่ง ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 ระหว่างนายวิชัยลิ้มสวัสดิ์วงศ์ โจทก์ บริษัทโตโยต้า เค.มอเตอร์ส ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด โดยพันตำรวจตรีกมล ชโนวรรณ จำเลย ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สินขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ศาลแพ่งได้มีหมายบังคับคดี ให้จัดการยึดทรัพย์ของจำเลย และบัดนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ของจำเลยไว้แล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำให้เสียหาย จำหน่าย จ่ายโอน หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ทรัพย์สินที่ยึดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นอันขาด” ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ออกประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด และผู้เสียหายทั้งสองก็ไม่ได้ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ตามประกาศนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายทั้งสองเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังว่าเป็นผู้มีหนี้สินมากและบิดพลิ้วไม่ชำระหนี้จนต้องถูกยึดทรัพย์ไม่น่าเชื่อถือไว้วางใจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83, 84 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 7, 8คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 2, (6), 5 ริบของกลางและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดซึ่งสามารถอ่านได้ชัดเจนลงในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ไทยรัฐ และเดลินิวส์ รวม 3 ฉบับ ฉบับละ 7 ครั้ง โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
บริษัทโตโยต้า เค.มอเตอร์ส ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัดที่ 1 พันตำรวจตรีกมล ชโนวรรณ ที่ 2 ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมาย ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ และโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา39(1) ศาลฎีกาจึงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายหรือไม่เสียก่อนข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าประกาศยึดทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 นำไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บ้านเมืองรายวันตามเอกสารหมาย จ.3และ จ.4 นั้น ได้ถ่ายภาพมาจากต้นฉบับประกาศยึดทรัพย์เอกสารหมายจ.9 ประกาศให้ยึดทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ในฐานะจำเลยในคดีแพ่งดังกล่าวเท่านั้น ถึงแม้จะมีข้อความต่อท้ายชื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ว่าโดยพันตำรวจตรีกมล ชโนวรรณ กรรมการบริษัทก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำการยึดทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 2 ด้วย เพราะโจทก์ร่วมที่ 2 ในฐานะกรรมการของโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ร่วมที่ 1 แต่อย่างใดดังนั้น โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ฎีการ่วมกับโจทก์ร่วมที่ 1 ได้
ปัญหาว่า ข้อความที่ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บ้านเมืองรายวันตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ดังกล่าวเป็นความเท็จและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ทราบว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 โจทก์ร่วมที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 26644/2529 ให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 390,000บาท ผู้แทนโจทก์ในคดีดังกล่าวแถลงขอให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวเจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการยึดทรัพย์ไว้ในวันนั้นแล้วตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อไม่มีการยึดทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 1 เพราะมีการชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีแล้วประกาศยึดทรัพย์เอกสารหมาย จ.9ก็ถูกยกเลิกไปทันที การที่ยังมีการนำภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.9 ไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บ้านเมืองอีกเพื่อเป็นการแสดงว่าได้มีการยึดทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 1 แล้ว ข้อความดังกล่าวจึงเป็นความเท็จ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตรวจข้อความดังกล่าวก่อนเพราะเห็นว่าเป็นเอกสารราชการ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share