แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่เจ้าพนักงานกรมศุลกากรได้รับมอบหมายให้เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแทนกรมสรรพากร เจ้าพนักงานกรมศุลกากรก็มิได้รับมอบหมายและไม่อาจรับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานกรมศุลกากรประเมินอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์ได้แต่โต้แย้งการประเมินไว้ด้านหลังของใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อสงวนสิทธิในการเรียกร้องขอคืนอากร ตามมาตรา 10 วรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469เท่านั้น แต่ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติไว้ จึงไม่เป็นการอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและที่ศาลภาษีอากรกลางรับวินิจฉัยเรื่องการเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลว่าเป็นการถูกต้องหรือไม่จึงเป็นการไม่ชอบ การเรียกเงินอากรขาเข้าที่เกินคืนตามมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่นำเข้า ปรากฏว่าระหว่างปี 2525 ถึง 2527 โจทก์นำเข้า 10 ครั้งครั้งสุดท้ายนำเข้าเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2532 เกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์ส่วนนี้จึงขาดอายุความเมื่อมีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะแล้วจะนำอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับหาได้ไม่ และเมื่อการฟ้องเรียกเงินอากรขาเข้าอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้วสิทธิเรียกร้องในเรื่องดอกเบี้ยอันเป็นส่วนอุปกรณ์ก็ย่อมขาดอายุความไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 190 ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ในระหว่างปี 2525 ถึง 2527โจทก์ได้สั่งน้ำมันปาล์ม อาร์.บี.ดี. จากประเทศมาเลเซียเข้ามาเฉพาะที่มีปัญหาจำนวน 10 ครั้ง ซึ่งในขณะนั้นตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ที่แก้ไขแล้วในพิกัดอัตราหมวด 3ตอนที่ 15 ประเภทที่ 15.07 ค. ประกอบด้วยประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.7/2525 จะต้องเสียอากรขาเข้าชนิดไม่พึงบริโภคเพียงลิตรละ1.32 บาท ของจำนวนของ และอากรพิเศษอีกร้อยละ 10 ของอากรดังกล่าวตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.11/2525 และจะต้องเสียภาษีการค้าเพียงร้อยละ 1.5 ของรายรับในวันจำหน่ายสินค้า ซึ่งถือเกณฑ์ในวันนำเข้า ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 มาตรา7(4) เพราะน้ำมันปาล์ม อาร์.บี.ดี. ไม่ใช่สินค้าประเภทน้ำมันปรุงอาหารตามบัญชี 1 หมวด 1(5) และไม่เป็นสินค้าที่ระบุในบัญชีที่ 1 บัญชีที่ 2 และบัญชีที่ 3 ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกับภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของภาษีการค้าในอัตราดังกล่าว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บเงินอากรขาเข้าในอัตราปกติที่ใช้กับน้ำมันปาล์มชนิดที่พึงบริโภค โดยเก็บเงินอากรขาเข้าลิตรละ 2 บาท กับอากรพิเศษอีกร้อยละ 10 ของอากรขาเข้าในอัตราดังกล่าว และเรียกเก็บภาษีการค้าแทนจำเลยที่ 2 ร้อยละ 7กับภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของภาษีการค้าดังกล่าว โจทก์ได้ชำระภาษีอากรที่จำเลยเรียกเก็บไปก่อน โดยทำบันทึกสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องเงินที่เรียกเก็บเกินคืนในภายหลัง และจำนวนภาษีอากรที่จำเลยเรียกเก็บเกินตามใบขนสินค้าฯ แต่ละครั้งรวม 10 ครั้งเป็นน้ำมันปาล์มรวม 10,789,305.14 ลิตร เป็นเงินภาษีอากรที่จำเลยเรียกเก็บรวม 22,181,512.90 บาท น้ำมันปาล์มที่โจทก์นำเข้านั้นต่อมาจำเลยได้ประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มบ้างลดบ้าง ตลอดจนคืนอากรที่โจทก์แยกเป็นสเตียรินส่งกลับไปต่างประเทศให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิบ้าง เป็นเหตุให้น้ำมันปาล์มและจำนวนเงินภาษีอากรขาเข้าลดลงจากเดิมซึ่งสรุปได้ว่า จำเลยที่ 1 เรียกเก็บอากรขาเข้า และอากรพิเศษจากโจทก์เกินไป 5,063,954.25 บาท จำเลยที่ 2 เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจากโจทก์เกินไป 5,842,004.88 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 7,051,929.02 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยของเงินค่าอากรขาเข้าและอากรพิเศษที่เรียกเก็บเกินจำนวน5,063,954.25 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ 8,104,649.44บาท พร้อมดอกเบี้ยของเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่เรียกเก็บเกินจำนวน 5,842,004.88 บาท นับต่อจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว และในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือโต้แย้งคัดค้านการประเมินต่อจำเลยทั้งสองภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทราบการประเมินตามใบขนสินค้าแต่ละฉบับ ดังนั้น ในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง และไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินค่าภาษี
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกที่จะวินิจฉัยคือ โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์สำแดงปริมาณน้ำมันปาล์มไว้ในใบขนสินค้าเพื่อเสียภาษีอากรในแต่ละครั้ง แล้วเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลในแต่ละครั้งดังกล่าว โจทก์ก็ได้แต่โต้แย้งการประเมินไว้ที่ด้านหลังของใบขนสินค้าในแต่ละครั้งนั้นเพื่อสงวนสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เท่านั้นแต่มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติไว้ แม้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1จะได้รับมอบหมายให้เรียกเก็บภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลแทนจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ก็มิได้รับมอบหมายและไม่อาจรับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรการโต้แย้งเพื่อสงวนสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินภาษีอากรของโจทก์จึงไม่เป็นการอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แม้เมื่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจพบว่าในบางครั้งที่สินค้าที่โจทก์นำเข้าจริงมีจำนวนมากกว่าที่โจทก์แจ้งไว้ในใบขนสินค้าแล้วเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งประเมินภาษีเพิ่มเติม โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เช่นกันเมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 30บัญญัติไว้ว่า ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลกับดอกเบี้ย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 8 ที่ศาลภาษีอากรกลางรับวินิจฉัยในเรื่องการเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลของจำเลยว่าเป็นการถูกต้องหรือไม่ จึงเป็นการมิชอบ
ส่วนเรื่องอายุความการเรียกเงินอากรขาเข้าส่วนที่เกินคืนพร้อมดอกเบี้ยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าทั้ง10 ครั้งนี้ เป็นการนำเข้าในระหว่างปี 2525 ถึง 2527 โดยครั้งสุดท้ายโจทก์นำเข้าเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2532 เกินกว่า 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า คดีโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้กำหนดอายุความในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงไว้โดยเฉพาะแล้ว หาใช่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้จึงต้องมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา164 ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้องตามที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ เมื่อการฟ้องเรียกเงินอากรขาเข้าอันเป็นส่วนประธานขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องในเรื่องดอกเบี้ยอันเป็นส่วนอุปกรณ์ก็ย่อมขาดอายุความไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 190 ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องโจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกเงินอากรขาเข้าและดอกเบี้ยคืน ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และปัญหาอื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน