แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องแจ้งชัดว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินปลูกบ้าน จำเลยอาศัยในบ้านดังกล่าวและไม่ยอมออก ขอบังคับให้จำเลยออกจากบ้านพิพาท เป็นการสมบูรณ์ทั้งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ เพราะเมื่อบ้านปลูกอยู่ในที่ดินโจทก์ไม่ว่าส่วนไหน โจทก์ก็ขอให้ขับไล่จำเลยได้โดยไม่จำเป็นจะต้องมีแผนที่พิพาทประกอบอีกว่าบ้านอยู่ส่วนไหนของที่ดินเนื่องจากแผนที่พิพาทเป็นรายละเอียดที่จะทำหรือนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
จำเลยฎีกาว่า แม้การยกให้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่จำเลยอยู่ในบ้านดังกล่าวมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเกิน 30 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ป.เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดเลขที่94123 เจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบด้วยตาม ป.พ.พ.มาตรา 107วรรคสองเดิม ดังนั้นเมื่อ ป.โอนที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่ ส.โดยไม่ปรากฏมีเงื่อนไขว่าโอนไปโดยไม่รวมถึงบ้านดังกล่าว ก็ต้องถือว่าได้โอนบ้านนั้นด้วย โดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าการโอนนั้นให้รวมถึงบ้านด้วยแต่อย่างใด ส.จึงมีสิทธิขายฝากบ้านดังกล่าวนั้นให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในบ้านดังกล่าวด้วย
ส่วนบ้านเลขที่ 2 และ 2/1 ปลูกอยู่ในที่ดินของ ป.บางส่วนอีกทั้งฝ่ายจำเลยมิได้ให้การต่อสู้หรือนำสืบเลยว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของ ป.และใช้สิทธินั้นปลูกบ้านทั้งสองหลังในที่ดินนั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 109 เดิมนอกจากนี้ยังได้ความว่าบ้านทั้งสองหลังได้ต่อเติมอย่างถาวรจากบ้านเลขที่ 1จึงเป็นส่วนควบกับบ้านและที่ดินของ ป.ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. เมื่อ ป.ยกที่ดินให้ ส. ส.จึงได้กรรมสิทธิ์ในบ้านดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา 107วรรรคสองเดิม ส.จึงมีสิทธิขายฝากบ้านเลขที่ 2 และ 2/1 ให้ไว้แก่โจทก์ได้และโจทก์ย่อมได้กรรรมสิทธิ์ในบ้าน 2 หลังนี้เช่นเดียวกับบ้านเลขที่ 1
ในชั้นอุทธรณ์ ฝ่ายจำเลยอุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหายแต่เพียงว่า จำเลยที่ 8 ถึงที่ 17 อยู่ในบ้านของตนเอง โจทก์จึงไม่เสียหายเท่านั้น หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาทต่อหลังสูงเกินไปและไม่ชอบเพราะเหตุใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะอ้างอิงขึ้นกล่าวไว้โดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยแล้วกำหนดค่าเสียหายของโจทก์ลดลงเหลือหลังละ500 บาทต่อเดือนจึงเป็นการไม่ชอบ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และให้บังคับเรื่องค่าเสียหายไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น