คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำพิพากษาของศาลแม้จะวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ของบ้านพิพาทว่าเป็นของจำเลย ซึ่งจำเลยใช้ยันบุคคลภายนอกได้ก็ตาม แต่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกก็ยังมีสิทธิที่จะพิสูจน์ว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)ทั้งการที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา8 วัน นับแต่วันปิดประกาศกำหนดเวลาให้โจทก์ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องดังกล่าว มาตรา296 จัตวา (3) ก็เพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์เป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ซึ่งมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดโจทก์จึงยังสามารถโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าโดยเป็นเจ้าของบ้านพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านพิพาท จำเลยได้ฟ้องขับไล่นายทิ้ง แสงศรี ลูกจ้างของจำเลยและบริวารให้ออกไปจากบ้านดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลาง ศาลพิพากษาขับไล่นายทิ้งและบริวาร โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิในบ้านดังกล่าว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทจำเลย ให้โจทก์ไปยื่นฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ต่อมาจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ในบ้านพิพาท และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งออกหมายจับนายทิ้งและบริวาร ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายจับนายทิ้ง ส่วนบริวารของนายทิ้งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ออกจากบ้านภายในวันที่ 25 มกราคม 2531 มิฉะนั้นจะออกหมายจับการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์และบริวารได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยคืนให้โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 200,000 บาท และค่าขนย้ายเป็นเงิน 100,000 บาทกับค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งธนบุรี) พิจารณาคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 7 ประกอบด้วยมาตรา 302 นอกจากนั้นกรณียังเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องดำเนินการตามมาตรา 296 จัตวา คดีของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษา จึงไม่รับคำฟ้องโจทก์ จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องโจทก์แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนเสร็จการ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในคดีหมายเลขแดงที่ 5693/2529 ของศาลแรงงานกลาง จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายทิ้งกับพวกให้ออกไปจากบ้านพิพาท ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลย ให้นายทิ้งกับบริวารออกไปและใช้ค่าเสียหาย นายทิ้งกับพวกไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ในบ้านพิพาทและให้ศาลแรงงานกลางออกหมายจับนายทิ้งโจทก์มาฟ้องจำเลยในคดีนี้โดยบรรยายฟ้องว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์ที่จำเลยอ้างในคำฟ้องในคดีเดิมว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ในบ้านและออกหมายจับนายทิ้งนั้นทำให้โจทก์เสียหาย คำฟ้องดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ คำพิพากษาของศาลแม้จะวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ของบ้านพิพาทว่าเป็นของจำเลยซึ่งจำเลยใช้ยันบุคคลภายนอกได้ก็ตามแต่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกก็ยังมีสิทธิที่จะพิสูจน์ว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)ทั้งการที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศกำหนดเวลาให้โจทก์ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของนายทิ้งลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ก็เพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์เป็นบริวารของนายทิ้งลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ซึ่งมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด โจทก์จึงยังสามารถโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าโดยเป็นเจ้าของบ้านพิพาทหรือไม่ การที่โจทก์ไม่ดำเนินการตามมาตรา 296 จัตวา (3) ดังกล่าวจึงหาได้ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีนี้ไม่ เมื่อประเด็นที่ศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัยในคดีนี้มีว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลย และปรากฏว่าบ้านพิพาทตั้งอยู่ในเขตศาลแพ่งธนบุรีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีนี้ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share