คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1726/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มารดาผู้ร้องที่ 2 แจ้งการเกิดว่า ช. เป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2 ทั้งที่ขณะนั้นผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ตามสำเนาสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านก็ระบุว่า ช. เป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2 ซึ่งสำเนาทะเบียนบ้านเป็นเอกสารมหาชน พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้ร้องที่ 2 มิได้นำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้นแต่อย่างใดข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ 2 มิใช่บุตรของผู้ตายจึงไม่เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายไม่มีสิทธิขอเป็นผู้จัดการมรดก ต้องถอนผู้ร้องที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่ง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายฟัก เลาหสวัสดิ์ ผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2เป็นภริยาและบุตรของนายฟักผู้ตาย ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เพราะไม่เคยแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบ ทั้งไม่ได้รับความยินยอมจากผู้คัดค้าน ประกอบกับการที่ผู้ตายจดทะเบียนรับรองผู้ร้องที่ 2 เป็นบุตรก็เพราะผู้ร้องที่ 2 ไม่ใช่สายเลือดของผู้ตาย ทั้งผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ยังปิดบังทรัพย์มรดกโดยลักลอบไขกุญแจตู้เอาโฉนดที่ดินกับเอกสารอื่นไป ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของนายฟักผู้ตาย และขอให้แต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ซึ่งไม่ได้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด เป็นผู้จัดการมรดกของนายฟัก เลาหสวัสดิ์ผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนผู้ร้องที่ 1ที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทายาทอื่นของผู้ตายไม่ได้ให้ความยินยอมในการที่ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ขอจัดการทรัพย์มรดกอีกทั้งผู้ร้องที่ 2 ไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย เนื่องจากเป็นบุตรของนายเชาว์น แม้ผู้ตายจะจดทะเบียนรับผู้ร้องที่ 2 เป็นบุตรก็ไม่ทำให้ผู้ร้องที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรม จึงไม่ใช่ทายาทหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบกับผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ไม่สามารถที่จะแบ่งทรัพย์มรดกได้ เพราะไม่ทราบว่าจะแบ่งกันอย่างไรรวมทั้งการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกมิได้กระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดก และขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องที่ 2 เป็นบุตรโดยสายเลือดแท้จริงของนายฟักผู้ตาย และผู้ตายได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและจดทะเบียนรับรองว่าผู้ร้องที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบ ทั้งผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นผู้จัดการมรดก เพราะเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ตายให้ดูแลทรัพย์มรดกเนื่องจากอาศัยอยู่กับผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านทั้งสามไม่ได้อาศัยอยู่กับผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ได้พากันรื้อขนย้ายทรัพย์สินมรดกหลายรายการไป ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ห้ามปรามและเกรงว่าจะเกิดความเสียหายต่อไปอีกแก่กองมรดก จึงเก็บรักษาเอกสารไว้ในที่ปลอดภัยและภายหลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้ทำการตามหน้าที่โดยฟ้องเรียกหนี้สินของผู้ตาย ตลอดจนแจ้งสิทธิแก่ลูกหนี้ต่าง ๆ รวบรวมทรัพย์มรดก จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกพร้อมจะแบ่งปันแก่ทายาท ผู้คัดค้านที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับผู้ตายเป็นเวลานานหลายสิบปี จนกระทั่งผู้ตายได้ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้มาอยู่กินกับผู้ตาย เพียงแต่มาจดทะเบียนสมรสกันในปี2531 โดยที่ผู้ตายไม่ได้มีเจตนาที่จะสมรส การที่ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยถูกต้องจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน ขอให้ศาลยกคำร้องขอของผู้คัดค้านทั้งสาม
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ถอนผู้ร้องที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายฟักผู้ตาย และมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายฟักผู้ตาย
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาของผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายมาตั้งแต่ปี 2476 มีบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ 5 คน คือ ผู้คัดค้านที่ 3นายขวัญยืน เลาหสวัสดิ์ นางสาวขวัญใจ เลาหสวัสดิ์นาวาอากาศโทบุญฟื้น เลาหสวัสดิ์ และผู้คัดค้านที่ 2 ในปี 2531ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 1 ได้จดทะเบียนฐานะของภริยา ผู้ตายได้นางจำเนียร ทรัพย์สมบูรณ์เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง มีบุตรคือ ผู้ร้องที่ 1 และนายเฟื่องเกียรติ เลาหสวัสดิ์ สำหรับผู้ร้องที่ 2ผู้ตายได้จดทะเบียนรับรองบุตรไว้ ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่26 เมษายน 2532 โดยมิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ได้ร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย อ้างว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องที่ 1ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านทั้งสามจึงมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกเพราะผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกและผู้ร้องที่ 2 ไม่ใช่บุตรที่แท้จริงของผู้ตาย สำหรับผู้ร้องที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้ร้องที่ 1 ก็มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งแต่อย่างใดคดีในส่วนของผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นอันยุติแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้นผู้ร้องที่ 1 ไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
คดีคงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่า มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เหตุที่ผู้คัดค้านทั้งสามขอให้ถอนผู้ร้องที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็โดยอ้างว่า ผู้ร้องที่ 2 มิใช่บุตรของผู้ตายซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวผู้คัดค้านทั้งสาม นายขวัญยืน เลาหสวัสดิ์นาวาอากาศโทบุญฟื้น เลาหสวัสดิ์ เบิกความยืนยันว่า ผู้ร้องที่ 2มิใช่บุตรของผู้ตาย แต่เป็นบุตรของนายเชาวน์กับนางจำเนียรซึ่งเมื่อตรวจพิจารณาสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย รค.2และสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย รค.13 แล้วปรากฏว่านางจำเนียรมารดาผู้ร้องที่ 2 ได้แจ้งการเกิดว่า นายเชาวน์เป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2 ทั้งที่ขณะนั้นผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ แต่นางจำเนียรก็หาได้แจ้งว่า ผู้ตายเป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2 ดังเช่นได้แจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของนายเฟื่องเกียรติและผู้ร้องที่ 1 ตามสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย รค.15, รค.16 แต่อย่างใดไม่ และตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย รค.2 ก็ระบุชื่อนายเชาวน์เป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2 อีก สำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้ร้องที่ 2 มิได้นำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่านางจำเนียรทราบดีว่าผู้ตายมิใช่บิดาที่แท้จริงของผู้ร้องที่ 2 จึงแจ้งชื่อนายเชาวน์สามีคนเดิมว่าเป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2 ไว้ก่อนข้อที่ผู้ร้องที่ 2 ฎีกาว่า นายเชาวน์สามีเก่าของนางจำเนียรได้ตายไปตั้งแต่ปี 2500 ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ร.12และสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ร.13 ส่วนผู้ร้องที่ 2เพิ่งเกิดเมื่อปี 2509 จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ร้องที่ 2 จะเป็นบุตรของนายเชาวน์ นั้น ผู้คัดค้านที่ 3 นายขวัญยืนและนาวาอากาศโทบุญฟื้นเบิกความว่า เมื่อประมาณปี 2507 ผู้ตายทะเลาะกับนางจำเนียรแล้วเลิกกัน นางจำเนียรไปอยู่กับบุตรโดยไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับผู้ตายอีก การที่นางจำเนียรคลอดผู้ร้องที่ 2 ในปี2509 จึงมีความจำเป็นที่นางจำเนียรจะต้องแจ้งชื่อบุคคลอื่นว่าเป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2 และทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้นก็ต้องอาศัยชื่อสามีเก่าเพื่อมิให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ตนเองเพราะนางจำเนียรมิได้อยู่กินกับผู้ตายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าผู้ร้องที่ 2มิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ไม่มีสิทธิขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงให้ถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่ง แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ก็มิได้สั่งแก้ไขในเรื่องนี้จึงเป็นการไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share