คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1543/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมที่ดินเฉพาะส่วนของเจ้ามรดกจึงเป็นมรดกตกแก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 กับบุตรคนอื่นรวม 8 คนซึ่งเป็นทายาท การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดดังกล่าวครอบครองที่ดินต่อมา ต้องถือว่าครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและทายาทคนอื่น จะครอบครองนานเท่าใดก็หาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวไม่ คำสั่งศาลในคดีแพ่งที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของเจ้ามรดกไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดดังกล่าวทั้งแปลงไปให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อ โดยโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมมิได้ยินยอมด้วยจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1361 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 2 จะทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตสัญญานั้นก็ไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าซื้อในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ แม้โจทก์ทั้งสองกำลังฟ้องเรียกที่ดินจากจำเลยที่ 1 และศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ก็ตามแต่ที่ดินเฉพาะส่วนของเจ้ามรดกย่อมตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกตาย โจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวนับแต่เวลานั้นเป็นต้นมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 มิใช่นับแต่วันมีคำพิพากษาโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยที่ 2 เป็นหลานสะใภ้ของโจทก์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2529 จำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่สุจริตโดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9568 ตำบลบ้านลำ อำเภอวิหารแดงจังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 53 ตารางวา มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองร่วมกันจำนวน 1 ไร่ 51 ตารางวา ซึ่งโจทก์ทั้งสองกำลังจะฟ้องให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงจากจำเลยที่ 1 เพื่อฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองเพิ่งทราบการฉ้อฉลเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2530 เนื่องจากทนายจำเลยที่ 1 ได้ส่งสำเนาสัญญาเช่าซื้อให้โจทก์ทั้งสองเพื่ออ้างเป็นพยานในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 25/2530 ของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมในโฉนดที่ดินดังกล่าว ขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2529 เฉพาะส่วนที่ดินของโจทก์ทั้งสองจำนวน 1 ไร่ 51 ตารางวา ห้ามจำเลยที่ 1 นำเอาที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสองในโฉนดที่ดินเลขที่9568 ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์นั้นไปทำนิติกรรมใด ๆให้ผูกพันส่วนของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9568 ซึ่งโจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นของโจทก์ทั้งสองบางส่วนนั้น ความจริงที่ดินดังกล่าวโจทก์ทั้งสองเพียงแต่ฟ้องศาลขอให้พิพากษาว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง และคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาโจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เดิมที่ดินโฉนดนี้มีชื่อจำเลยที่ 1 กับนางจันทร์ เอี่ยมศรี มารดาถือกรรมสิทธิ์รวมกันคนละกึ่งหนึ่ง ต่อมาจำเลยที่ 19 พฤษภาคม 2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของนางจันทร์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 247/2529 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดนี้ทั้งแปลงแต่ผู้เดียวและมีสิทธิให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนมิได้ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2529 เฉพาะที่ดินส่วนที่จะตกเป็นของโจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9568
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายเจี๊ยบ นางจันทร์เอี่ยมศรีมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน จำเลยที่ 2 เป็นหลานสะใภ้ของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 นายเจี๊ยบถึงแก่กรรมก่อนนางจันทร์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 9568 ตำบลบ้านลำ อำเภอวิหารแดงจังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 53 ตารางวา นางจันทร์กับจำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมกันคนละครึ่ง เมื่อเดือนกันยายน 2515นางจันทร์ถึงแก่กรรม ต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2529 จำเลยได้ไปยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวเฉพาะส่วนของนางจันทร์ อ้างว่าได้รับยกจากนางจันทร์โดยไม่ได้จดทะเบียนยกให้ และจำเลยได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลากว่าสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว ในที่สุดศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9568 ดังกล่าว เฉพาะส่วนของนางจันทร์ตามกฎหมายแล้ว ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 247/2529ของศาลชั้นต้น หลังจากนั้นจำเลยจึงได้นำคำสั่งศาลดังกล่าวไปจดทะเบียนสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 9568 ดังกล่าว เฉพาะส่วนของนางจันทร์เป็นกรรมสิทธิ์ของตนแต่ผู้เดียว ครั้นวันที่ 5พฤศจิกายน 2529 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 9568 ทั้งแปลงไปให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อที่ดินเอกสารหมาย ล.24 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 25/2530 หมายเลขแดงที่450/2530 ของศาลชั้นต้น โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วยวันที่ 8 มกราคม 2530 โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นจำเลยขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 9568 เฉพาะส่วนของนางจันทร์ ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 25/2530 หมายเลขแดงที่ 450/2530 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2530 โจทก์ทั้งสองก็มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
ในข้อที่ยังโต้เถียงกันโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า ก่อนถึงแก่กรรมนางจันทร์ไม่เคยยกกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนในที่ดินโฉนดเลขที่9568 ดังกล่าวให้แก่ผู้ใด เมื่อนางจันทร์ถึงแก่กรรมที่ดินเฉพาะส่วนของนางจันทร์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท โจทก์ทั้งสองจึงมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อ และโจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 1 แล้ว จึงต้องฟ้องเพิกถอนสัญญาเช่าซื้อด้วยเพราะทำให้โจทก์เสียหาย
จำเลยทั้งสองนำสืบว่า เมื่อต้นปี 2515 ก่อนนางจันทร์ถึงแก่กรรม นางจันทร์ได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว จึงได้ไปร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ต่อศาล เมื่อศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำไปให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อ
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนสัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองเบิกความว่า ที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำไปให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อนี้โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยไว้แล้วตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 25/2530 ของศาลชั้นต้น ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 25/2530 หมายเลขแดงที่ 450/2530 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ทั้งสองได้ขอให้ศาลนำมาผูกรวมกับคดีนี้ว่า ในคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสองได้เบิกความยืนยันว่า ระหว่างนางจันทร์ยังมีชีวิตอยู่นางจันทร์ไม่ได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9568 เฉพาะส่วนของตนให้ใครเลย หากยกให้จะต้องไปจดทะเบียนที่จำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวด้วย ก็เนื่องจากนางจันทร์มารดายกให้มาแล้วข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสองจึงมีเหตุผลอยู่ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าก่อนนางจันทร์ถึงแก่กรรมนางจันทร์ได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้จำเลยที่ 1 เมื่อต้นปี 2515 และจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวต่อมาจนได้กรรมสิทธิ์ ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และนางสาวอรุณ เอี่ยมศรี ซึ่งเบิกความเป็นพยานจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 25/2530 หมายเลขแดงที่ 450/2530 ของศาลชั้นต้นว่า ที่จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดดังกล่าวกับนางจันทร์ ก็เพราะนางจันทร์จดทะเบียนยกให้ และเมื่อปี 2508 นางจันทร์ก็จดทะเบียนยกบ้านที่อยู่อาศัยให้นางสาวอรุณ ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องด้วย ดังนั้นหากนางจันทร์ได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนที่เหลือให้จำเลยอีกจริง นางจันทร์ก็น่าจดทะเบียนยกให้ เพราะได้เคยจดทะเบียนยกที่ดินแปลงนี้ส่วนหนึ่งให้จำเลย และจดทะเบียนยกบ้านให้แก่นางสาวอรุณมาแล้วนางจันทร์ย่อมจะทราบถึงพิธีการยกให้ที่ดินและบ้านเป็นอย่างดียิ่งกว่านั้นปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9568 ที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ได้อ้างเป็นพยานไว้ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 25/2530หมายเลขแดงที่ 450/2530 ของศาลชั้นต้น ได้มีการออกโฉนดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2512 มีชื่อนางจันทร์และจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวม ที่ดินดังกล่าวจึงเพิ่งได้ออกโฉนดมาก่อนหน้าที่จำเลยที่ 1 อ้างว่านางจันทร์ได้ยกส่วนของตนให้จำเลยที่ 1เพียงประมาณ 3 ปี เท่านั้น ถ้านางจันทร์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวทั้งแปลงจริง นางจันทร์ก็น่าจะจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 1 ทั้งแปลงตั้งแต่คราวแรกแล้วข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักในการรับฟังสู้พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองไม่ได้ คดีฟังได้ว่านางจันทร์มิได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้จำเลยที่ 1 เมื่อนางจันทร์ถึงแก่กรรมที่ดินเฉพาะส่วนของนางจันทร์จึงเป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของนางจันทร์ซึ่งได้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 กับบุตรคนอื่นรวม 8 คนการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดดังกล่าว ได้ครอบครองที่ดินแปลงนั้นต่อมาหลังจากนางจันทร์ถึงแก่กรรมถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและทายาทคนอื่นของนางจันทร์ด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะครอบครองที่ดินแปลงนั้นมานานเท่าใด ที่ดินแปลงนั้นก็หาได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1แต่เพียงผู้เดียวไม่ โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่นของนางจันทร์ย่อมมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินเฉพาะส่วนของนางจันทร์อยู่คนละ1 ใน 8 ส่วน คำสั่งศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 247/2529 ของศาลชั้นต้น ที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของนางจันทร์ไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสอง เมื่อคดีฟังว่า โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 9568 เฉพาะส่วนของนางจันทร์คนละ 1 ใน 8 ส่วน การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดดังกล่าวทั้งแปลงไปให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อ โดยโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมมิได้ยินยอมด้วย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 2จะทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตสัญญานั้นก็ไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าซื้อในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 นำเอาที่ดินส่วนของตนไปทำนิติกรรมให้ผูกพันโจทก์ทั้งสองได้ ในข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 25/2530 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินจากจำเลยที่ 1 ยังมิได้พิพากษาโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่มีกรรมสิทธิ์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าที่ดินเฉพาะส่วนของนางจันทร์เป็นมรดก ย่อมตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทนับแต่เวลาที่นางจันทร์ตาย โจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวนับแต่เวลานั้นเป็นต้นมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1599 มิใช่นับแต่วันมีคำพิพากษา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share