คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอื่น จนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าทั้งหมดรวมกัน แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า “DUNLOPILLO” ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า “DELIGHTPILLO”ของจำเลยเป็นอักษรโรมันด้วยกัน มีลักษณะลีลาการเขียนคล้ายกัน แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมัน 10 ตัว ในขณะที่เครื่องหมายการค้าของจำเลย ประกอบด้วยอักษรโรมัน 12 ตัว อยู่ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่ตรงเหลี่ยมประดิษฐ์ให้เป็นรูปมน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลย แม้ต่างออกเสียงเป็นสี่พยางค์ โดยออกเสียงพยางค์ท้ายตรงกันว่า “พิลโล” ก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยสองพยางค์แรกอ่านออกเสียงต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์สองพยางค์แรกอ่านออกเสียงว่า “ดันล๊อป” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยอ่านออกเสียงว่า “ดีไลท์” ซึ่งเมื่ออ่านเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยทั้งสี่พยางค์รวมกันแล้วปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยอ่านออกเสียงต่างกันมากอย่างเห็นได้ชัด ลำพังแต่อักษรตัวแรกในแต่ละพยางค์ ประกอบด้วยอักษรตัวเดียวกันไม่อาจทำให้หลงผิดแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าคำว่า “D” ของโจทก์ เป็นอักษรโรมันตัวเดียวอยู่ในวงกลมซึ่งมีลูกศรชี้ไปทางขวามือ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “D.R.” ของจำเลยเป็นอักษรโรมัน 2 ตัว อยู่ในวงกลม หลังอักษรแต่ละตัวมีเครื่องหมายจุด (.) รูปรอยประดิษฐ์อักษรตัวดีมีลักษณะลีลาการเขียนที่แตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกันอันจะทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ว่า สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปรอยอักษรประดิษฐ์ “DUNLOPILLO” ตามคำขอเลขที่ 145954ทะเบียนเลขที่ 97518 และตามคำขอเลขที่ 145955 ทะเบียนเลขที่ 99256ดีกว่าของจำเลย ให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 137756 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 137756 กับสินค้าของจำเลยทุกชนิดให้จำเลยทำลายเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 137756 ซึ่งปรากฏบนสินค้าของจำเลยให้หมดสิ้น กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 10,000บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 137756
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกัน จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นการเลียนแบบของจำเลย ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยดีกว่าโจทก์ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอที่ 145954ของโจทก์ หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 145954 และคำขอเลขที่ 145955 ดีกว่าจำเลยขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้น วินิจฉัยว่า คดีฟังไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเลียนแบบหรือมีลักษณะคล้ายหรือเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ามาก่อนจำเลย โจทก์มิได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลย พิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “DUNLOPILLO” โดยบริษัทดันล๊อปรับเบอร์ (สเตร๊ตเซ็ตเติ้ลเมนต์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้สำหรับสินค้าจำนวนที่ 41 ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ตามคำขอจดทะเบียนที่ 6555 ทะเบียนเลขที่ 3385 ตามทะเบียนแบบเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.7 และบริษัทดันล๊อปลิมิเต็ดซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์อีกบริษัทหนึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกที่ 50 เมื่อ พ.ศ. 2517 ตามคำขอจดทะเบียนที่ 83922ทะเบียนเลขที่ 52748 ตามทะเบียนแบบเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.8โจทก์ได้รับโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม2526 ตามรายการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงท้ายทะเบียนแบบเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 โจทก์ได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นรูปรอยอักษรประดิษฐ์ด้านบนเว้าลงมาตรงกลางและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกที่ 41และจำพวกที่ 50 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2528 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 นอกจากนั้นแล้วโจทก์ยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์อักษรโรมันคำว่า “D” ในวงกลมลูกศรสำหรับสินค้าจำพวกที่ 50 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.12 อีกด้วย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม2527 จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า”DELIGHTPILLO” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 41 ตามคำขอจดทะเบียนที่ 137756 ทะเบียนเลขที่ 90603 ตามทะเบียนแบบเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.13 โดยอักษรโรมันคำว่า “DELIGHTPILLO” มีลักษณะโค้งเว้าเช่นเดียวกันกับอักษรโรมันคำว่า “DUNLOPILLO” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยยังได้ใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์อักษรโรมันคำว่า “D.R.” ในวงกลมสำหรับสินค้าจำพวกที่ 41 ตามเอกสารหมาย จ.15 อีกด้วย
โจทก์ฎีกาในประการแรกสรุปได้ความว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวอักษรภาษาโรมันคำว่า “DUNLOPILLO” (ดันล๊อปพิลโล)ในรูปลักษณะตัวอักษรประดิษฐ์ด้านบนเว้าลงมาตอนกลางมีสี่พยางค์อักษรตัวแรกในแต่ละพยางค์ประกอบด้วยอักษรโรมันตัว D, L, P, L(ดี, แอล, พี, แอล) ซึ่งโจทก์ได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าดังกล่าว โดยนำชื่อบริษัทของโจทก์ส่วนแรกมารวมกับคำอักษรโรมันคำว่า “PILLO” (พิลโล) ซึ่งเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยเฉพาะส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นตัวอักษรภาษาโรมันคำว่า”DELIGHTPILLO” (ดีไลท์พิลโล) ในรูปลักษณะตัวประดิษฐ์ด้านบนเว้าลงมาตอนกลางและมีสี่พยางค์โดยอักษรตัวแรกในแต่ละพยางค์ประกอบด้วยอักษรโรมันตัว D, L, P, L (ดี, แอล, พี, แอล) มีลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งในส่วนลีลาการเขียนเป็นรูปลักษณะอักษรประดิษฐ์ ด้านบนเว้าลงมาตอนกลางจำนวนพยางค์เท่ากันและตัวอักษรตัวแรกในแต่ละพยางค์เป็นอักษรตัวเดียวกัน อ่านออกเสียงคล้ายกันมาก ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบถึงที่มาของเครื่องหมายการค้าของจำเลยว่า มีความเป็นมาอย่างไรนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอื่นจนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าทั้งหมดรวมกันสำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.13 แล้ว ปรากฏว่า แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยดังกล่าวเป็นอักษรโรมันด้วยกันมีลักษณะลีลาการเขียนคล้ายกัน โดยด้านบนเว้าลงมาตอนกลาง แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมัน 10 ตัว ในขณะที่เครื่องหมายการค้าของจำเลยประกอบด้วยอักษรโรมัน 12 ตัว อยู่ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่ตรงเหลี่ยมประดิษฐ์ให้เป็นรูปมนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยแม้ต่างออกเสียงเป็นสี่พยางค์โดยออกเสียงพยางค์ท้ายตรงกันว่า “พิลโล” ก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยสองพยางค์แรกอ่านออกเสียงต่างกันโดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์สองพยางค์แรกอ่านออกเสียงว่า”ดันล๊อป” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยอ่านออกเสียงว่า “ดีไลท์”ซึ่งเมื่ออ่านเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยทั้งสี่พยางค์รวมกันแล้วปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยอ่านออกเสียงต่างกันมากอย่างเห็นได้ชัด ลำพังแต่อักษรตัวแรกในแต่ละพยางค์ประกอบด้วยอักษรตัวเดียวกัน ไม่อาจทำให้หลงผิดแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาในประการต่อไปว่า จำเลยลอกเลียนเครื่องหมายของโจทก์ซึ่งเป็นรูปรอยประดิษฐ์อักษรโรมันคำว่า”D” (ดี) ในวงกลมลูกศรเป็นคำว่า “D.R.”(ดี.อาร์.) ในวงกลมใช้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 41 ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเดียวกับสินค้าของโจทก์ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.14 เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยเอกสารหมาย จ.15 แล้ว ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นอักษรโรมันตัวเดียว อยู่ในวงกลมซึ่งมีลูกศรชี้ไปทางขวามือ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมัน 2 ตัวอยู่ในวงกลมหลังอักษรแต่ละตัวมีเครื่องหมายจุด (.) รูปรอยประดิษฐ์อักษรตัวดีก็มีลักษณะลีลาการเขียนที่แตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง ตามที่วินิจฉัยมาแล้วคดีฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลย ไม่เหมือนหรือคล้ายกันอันจะทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลยและห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share