คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งให้งดการไต่สวนพยานจำเลยที่ 1 ในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา หากคู่ความฝ่ายใดไม่เห็นด้วยและประสงค์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นในภายหลังจะต้องโต้แย้งคำสั่งให้ศาลจดลงไว้ในรายงาน คู่ความฝ่ายที่โต้แย้งจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 แต่ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวนเมื่อวันที่21 กุมภาพันธ์ 2534 และนัดฟังคำสั่งในวันรุ่งขึ้นเวลา 9 นาฬิกาทนายโจทก์ได้ทราบคำสั่งในวันนั้นแล้ว ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำสั่ง ย่อมมีเวลาเพียงพอที่โจทก์จะโต้แย้งคัดค้านได้ แต่ก็หาได้มีการโต้แย้งคัดค้านไม่ โจทก์จึงหมดสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว อีกทั้งไม่อาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นข้อฎีกาได้ เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกาตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก (เดิม)แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาข้อนี้ของโจทก์ขึ้นมาด้วย ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย โจทก์ฟ้องคดีพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้โดยยื่นคำร้องขอในกรณีมีเหตุฉุกเฉินรวมเข้ามาด้วยกรณีจึงเป็นไปตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 267 ปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำวิธีการชั่วคราวในกรณีมีเหตุฉุกเฉินมาใช้บังคับตามคำขอของโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอโดยพลันให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเสีย ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมตามคำขอของจำเลยที่ 1 คำสั่งดังกล่าว ย่อมเป็นที่สุด ทั้งนี้โดยมิพักต้องคำนึงถึงว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำขอของจำเลยที่ 1ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือพิจารณาฝ่ายเดียวหรือสองฝ่ายหรือไม่ เพราะแม้จะได้ความว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำขอของจำเลยที่ 1 ในกรณีธรรมดาเพราะไม่มีเหตุฉุกเฉิน หรือพิจารณาคำขอของจำเลยที่ 1 ชนิดสองฝ่ายก็ตาม คำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นก็เป็นการสั่งตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสอง ที่บัญญัติว่าคำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุดอยู่นั่นเอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำการก่อสร้างอาคารชุดที่พักอาศัยเพื่อการพักผ่อนสูง 49 ชั้น ในที่ดินของโจทก์ซึ่งติดกับที่ดินของจำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1179 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีของจำเลยที่ 3 ออกเป็นที่ดินอีก 1 แปลง เป็นโฉนดเลขที่ 32589โดยแบ่งแยกในนามเดิมเพื่อให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1179 ซึ่งเดิมติดถนนสาธารณประโยชน์สองด้าน คงติดถนนสาธารณประโยชน์เพียงด้านเดียวเพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับตามกฎหมายที่ห้ามสร้างอาคารสูงในที่ดินที่ติดถนนสาธารณประโยชน์สองด้าน แล้ว จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้ร่วมกันขออนุญาตปลูกสร้างอาคารชุดพักอาศัยสูง 36 ชั้น ตามแบบแปลนที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จัดทำขึ้นซึ่งไม่เป็นไปตามที่ได้ตกลงไว้กับโจทก์ว่าจะปลูกอาคารของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ให้เบี่ยงเบนกับอาคารของโจทก์เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อภูมิทัศน์และสภาวะสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดผลเสียหายแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายเนื่องจากอาคารของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะบดบังภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมโดยธรรมชาติ แสงแดดและทิศทางลมที่จะเข้าสู่อาคารของโจทก์ โจทก์ได้แจ้งเรื่องราวเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต่อจำเลยที่ 6 และที่ 7 แล้วจำเลยที่ 6และที่ 7 กลับจงใจกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายออกใบอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำการก่อสร้างอาคารได้ตามที่ขอทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถขายห้องชุดบางส่วนและผู้ซื้อบางรายได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน 591,003,200 บาท ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 1179ในส่วนที่มีความสูงเกินกว่าที่กฎหมายจะอนุญาตให้สร้างได้ ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทำการก่อสร้างอาคารลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1179ในส่วนที่มีความสูงเกินกว่าที่กฎหมายจะอนุญาตให้สร้างได้คือ 8 เมตรหากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทำการก่อสร้างอาคารสูงกว่านี้ก็ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 รื้อถอนในส่วนที่สูงเกิน 8 เมตร นั้นเสียโดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น หากไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นผู้รับผิดในค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 591,003,200 บาท
ในวันเดียวกันกับที่โจทก์ยื่นคำฟ้อง โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 กระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดและการกระทำโดยผิดกฎหมายของจำเลยทั้งเจ็ด โดยให้ระงับการใช้ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นการชั่วคราวและห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทำการก่อสร้างอาคารลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1179 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาโดยขอให้ไต่สวนในเหตุฉุกเฉิน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งระงับการใช้ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ปลูกสร้างอาคาร และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทำการก่อสร้างอาคารชุดลงบนที่ดิน โฉนดเลขที่ 1179 ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามชั่วคราวดังกล่าวโดยเร่งด่วน
ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานจำเลยที่ 1 ได้ 1 ปาก แล้วเห็นว่าคดีพอจะวินิจฉัยได้ จึงให้งดการไต่สวนและมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามชั่วคราว
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งให้งดการไต่สวนและคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำสั่งให้งดการไต่สวนของศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา หากคู่ความฝ่ายใดไม่เห็นด้วยและประสงค์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นในภายหลัง จะต้องโต้แย้งคำสั่งให้ศาลจดลงไว้ในรายงานคู่ความฝ่ายที่โต้แย้งจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แต่คดีนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2534และนัดฟังคำสั่งในวันรุ่งขึ้นเวลา 9 นาฬิกา ทนายโจทก์ได้ทราบคำสั่งในวันนั้นแล้ว ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำสั่งย่อมมีเวลาเพียงพอที่โจทก์จะโต้แย้งคัดค้านได้ แต่ก็หาได้มีการโต้แย้งคัดค้านไม่ โจทก์จึงหมดสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวอีกทั้งไม่อาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นข้อฎีกาได้ เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกาตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาข้อนี้ของโจทก์ขึ้นมาด้วย ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
ส่วนปัญหาว่าคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่นั้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้โดยยื่นคำร้องขอในกรณีมีเหตุฉุกเฉินรวมเข้ามาด้วย กรณีจึงเป็นไปตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 ซึ่งกำหนดให้ศาลพิจารณาคำขอเป็นการด่วน หากศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่โจทก์ขอแล้วตามความในวรรคสองของกฎหมายมาตราเดียวกันก็บัญญัติถึงสิทธิของจำเลยว่า จำเลยอาจยื่นคำขอโดยพลันให้ศาลยกเลิกคำสั่งหรือหมายนั้นได้ ทั้งยังบัญญัติไว้ด้วยว่า ถ้าศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมตามคำขอคำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุดด้วยซึ่งคดีนี้ก็ปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำวิธีการชั่วคราวในกรณีมีเหตุฉุกเฉินมาใช้บังคับตามคำขอของโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอโดยพลันให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเสีย ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมตามคำขอของจำเลยที่ 1 คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสอง ทั้งนี้โดยมิพักต้องคำนึงถึงว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำขอของจำเลยที่ 1ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือพิจารณาฝ่ายเดียวหรือสองฝ่ายตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เพราะแม้จะได้ความว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำขอของจำเลยที่ 1 ในกรณีธรรมดาเพราะไม่มีเหตุฉุกเฉิน หรือพิจารณาคำขอของจำเลยที่ 1 ชนิดสองฝ่ายตามที่โจทก์อ้างในฎีกาก็ตาม คำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นก็เป็นการสั่งตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสอง ที่บัญญัติว่าคำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุดอยู่นั่นเอง”
พิพากษายืน

Share