คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1088/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นทนายความไม่ได้รับแลกเช็คจากคุณหญิง ศ. จริงเพียงแต่รับสมอ้างดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นผู้ทรงเช็คไม่ว่าจะโดยรับมาจากโจทก์หรือจากคุณหญิง ศ.ก็ตาม โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็ค เป็นเช็คที่ไม่มีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวการกระทำของจำเลยจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อเจ้าพนักงานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เพื่อแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ได้รับความเสียหายถูกจับกุมดำเนินคดี เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173 ประกอบ มาตรา 174 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะไม่ผิดมาตรา 137 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่ว ๆ ไปอีกและไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,172, 173, 174, 267, 268, 310, 397 และมาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์นำเช็คไปแลกเงินสดจากจำเลย จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ ขอให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยขอแก้คำร้องทุกข์ว่า คุณหญิงศิริพันธ์เป็นผู้นำเช็คไปแลกเงินจากจำเลย ความจริงเช็คดังกล่าวโจทก์มอบให้คุณหญิงศิริพันธ์ไว้เป็นประกันหนี้โดยไม่ได้ลงวันที่ไว้ จำเลยเป็นทนายความทราบเรื่องดังกล่าวดีและไม่ได้รับแลกเช็คจากคุณหญิงศิริพันธ์แต่รับเป็นผู้ทรงเช็คไปแจ้งความร้องทุกข์นั้นศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการที่จำเลยซึ่งไม่ได้รับแลกเช็คจากคุณหญิงศิริพันธ์จริงเพียงแต่รับสมอ้างดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย การไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นผู้ทรงเช็คไม่ว่าจะโดยรับมาจากโจทก์หรือคุณหญิงศิริพันธ์ก็ตาม โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คเป็นเช็คที่ไม่มีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นเพื่อแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ได้รับความเสียหายถูกจับกุมดำเนินคดี อันเป็นความผิดตามมาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 137 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่ว ๆอีก และไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ5,000 บาท หลังจากจำเลยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยได้ไปถอนคำร้องทุกข์ไม่ดำเนินคดีกับโจทก์ต่อไป นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนอยู่ในวิสัยที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดีได้ จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ มีกำหนด 2 ปี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ค่าปรับบังคับมาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share