แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นพนักงานทำหน้าที่เหรัญญิกและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของโจทก์ร่วม จำเลยรับเงินจำนวน 20,000 บาท จาก ท. ซึ่งนำมาวางค้ำประกันการเข้าทำงานกับโจทก์ร่วม แต่จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ส่วนตัวโดยไม่นำเข้าบัญชีของโจทก์ร่วมตามคำสั่งของส.หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ร่วมเมื่อส. สอบถามจำเลยจำเลยก็แจ้งให้ทราบว่าขอเอาไปใช้ก่อนเพราะครอบครัวเดือดร้อนและจะนำมาคืนให้สิ้นเดือนมีนาคม 2532 ส. มิได้ดำเนินการอะไรเมื่อถึงกำหนดจำเลยผิดนัด ส. ก็ยังกำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินมาคืนภายในวันที่ 29 เมษายน 2532 ครั้งถึงกำหนดจำเลยยังไม่นำเงินมาคืนอีกและจะออกจากงาน ส. ก็ขอร้องให้จำเลยทำงานต่อไปจนกระทั่งวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 จำเลยไม่มาทำงาน ในวันที่ 13มิถุนายน 2532 ส. จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ตามพฤติการณ์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยนำเงินจำนวน 20,000 บาทไปใช้ก่อนแล้วเอามาคืนให้ครบจำนวนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้การที่จำเลยผิดนัดไม่นำเงินมาคืนให้โจทก์ร่วมและต่อสู้ว่าไม่ได้เอาเงินจำนวนดังกล่าวไป ก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะยักยอกเงินของโจทก์ร่วม จึงเป็นเรื่องที่จะกล่าวกันทางแพ่งไม่เป็นความผิดอาญาฐานยักยอก ดังนี้ พนักงานอัยการจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินจำนวน 20,000 บาท คืนให้ผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2532 เวลากลางวันจำเลยซึ่งเป็นพนักงานทำหน้าที่เหรัญญิกและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เซ็นเตอร์คอนสตรัคชั่นอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต ผู้เสียหาย ได้รับเงินค่ามัดจำค้ำประกันการเข้าทำงานจากผู้สมัครเข้าทำงานกับผู้เสียหาย เป็นเงิน20,000 บาท ไว้ในความครอบครองแทนผู้เสียหาย ครั้นระหว่างวันที่27 มีนาคม 2532 เวลากลางวันต่อเนื่องกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยได้เบียดบังเอาเงินดังกล่าวของผู้เสียหายเป็นของตนโดยเจตนาทุจริต เหตุเกิดที่แขวงคลองถนน เขตบางเขน กรุงเทพมหานครขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และได้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสาวสกุลตลา บำรุงราษฎร์ หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 จำคุก 2 เดือน กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 20,000บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน20,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำเงินจำนวน 20,000 บาทไปใช้ส่วนตัว โดยไม่นำเข้าบัญชีของโจทก์ร่วมตามคำสั่งของนางสาวสกุลตลาหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ร่วมนี้ เมื่อนางสาวสกุลตลาสอบถามจำเลย จำเลยก็แจ้งให้ทราบว่าขอเอาไปใช้ก่อนเพราะครอบครัวเดือดร้อนและจะนำมาคืนให้สิ้นเดือนมีนาคม 2532 ซึ่งนางสาวสกุลตลามิได้ดำเนินการอะไร เมื่อถึงกำหนดดังกล่าวจำเลยผิดนัด นางสาวสกุลตลาก็ยังกำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินมาคืนภายในวันที่ 29 เมษายน 2532 ครั้นถึงกำหนดจำเลยยังไม่นำเงินมาคืนอีกและจะออกจากงานนางสาวสกุลตลาก็ขอร้องให้จำเลยทำงานต่อไปจนกระทั่งวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 จำเลยไม่มาทำงาน ในวันที่13 มิถุนายน 2532 จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนางสาวสกุลตลาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม ตามพฤติการณ์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยนำเงินจำนวน20,000 บาท ไปใช้ก่อนแล้วเอามาคืนให้ครบจำนวนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ การที่จำเลยผิดนัดไม่นำเงินมาคืนให้โจทก์ร่วม และต่อสู้ว่าไม่ได้เอาเงินจำนวนดังกล่าวไป ก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะยักยอกเงินของโจทก์ร่วม จึงเป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดอาญาฐานยักยอก ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) ด้วยนั้นเป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันทางแพ่ง จึงกลายเป็นคดีแพ่งล้วน ๆ หาใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องคดีอาญาไม่ ดังนี้ พนักงานอัยการจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินเช่นนี้แทนผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์