คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการขอประนอมหนี้ครั้งแรกซึ่งถูกศาลสั่งยกเลิกและพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย จำเลยขอชำระหนี้เป็นจำนวนร้อยละ 15 ของยอดหนี้ที่ไม่มีประกัน รวมทั้งหนี้มีประกันของผู้ร้องส่วนที่ยังขาดอยู่หลังจากบังคับจำนองทรัพย์อันเป็นหลักประกันแล้วด้วย ในการขอประนอมหนี้ครั้งหลังจำเลยยื่นคำขอประนอมหนี้โดยระบุว่าจำเลยจะยอมชำระหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้วเป็นจำนวนร้อยละ 15 แม้ว่าในคำขอประนอมหนี้ครั้งหลังจำเลยจะมิได้ระบุ รายละเอียดเหมือนการประนอมหนี้ครั้งแรก แต่การประนอมหนี้ทั้งสองครั้งได้กระทำในคดีล้มละลายเรื่องเดียวกัน เมื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ทั้งสองครั้งประกอบกันแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยมีความประสงค์จะขอประนอมหนี้เฉพาะหนี้ที่ไม่มีประกันเป็นจำนวนร้อยละ 15 ของหนี้ทั้งหมดส่วนที่เป็นหนี้มีประกันจำเลยยินยอมให้เจ้าหนี้บังคับเอาแก่ทรัพย์อันเป็นหลักประกันก่อน หากยังขาดอยู่ จำเลยจึงขอชำระหนี้จำนวนร้อยละ 15 ของหนี้ส่วนที่ขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นประกันตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วได้ การที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายเนื่องจากจำเลยขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายสำเร็จ และศาลสั่งให้จำเลยมีอำนาจเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของตนนั้น อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายยังมิได้สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมีหน้าที่ในการที่จะปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อตกลงในการประนอมหนี้อยู่ต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย(ลูกหนี้) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2523 และพิพากษาให้จำเลยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2524 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นเงิน97,068,471.20 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามที่ขอ จำเลยอุทธรณ์และฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนวน 97,068,471.20 บาท เต็มตามคำขอโดยให้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองซึ่งมีที่ดินมีโฉนด 3 โฉนดอยู่ที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรต่าง ๆ ของจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาจำนองก่อน ตามมาตรา 96(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หากยังขาดอีกเท่าไร ก็ให้ได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยจากกองทรัพย์สินของจำเลยตามมาตรา 130(8) ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4336/2531 ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้จำนองของผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งว่า เนื่องจากจำเลยขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายซึ่งศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้และสั่งยกเลิกการล้มละลายกับให้จำเลยมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 63 อีกทั้งคำขอประนอมหนี้และมติที่ประชุมเจ้าหนี้มิได้มีเงื่อนไขในการประนอมหนี้ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 447 ได้รับชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้โดยให้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องให้งดการบังคับคดี และยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวและเห็นว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมีอำนาจดำเนินการต่อไปตามคำร้องของผู้ร้อง จึงขอให้สั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองของจำเลย และขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินชำระหนี้ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาและตามที่จำเลยได้ขอประนอมหนี้ไว้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย และสั่งยกเลิกการล้มละลาย กับให้จำเลยมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 63 ต่อไป ดังนั้น การประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายดังกล่าวย่อมผูกพันเจ้าหนี้ทั้งหมด และจำเลยกลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 56 ประกอบมาตรา 63 และในข้อตกลงเรื่องการประนอมหนี้หลังล้มละลายดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงการจัดการทรัพย์สินของจำเลยไว้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจดำเนินการใด ๆ นอกเหนือไปจากที่ได้กำหนดไว้ในการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้ ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ภายหลังจากที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย และยกเลิกการล้มละลาย กับให้จำเลยมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนได้ตามมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว คำสั่งของศาลที่ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยก็ถูกเพิกถอนไปด้วยในตัว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจที่จะยึดที่ดินและเครื่องจักรตามคำร้องของผู้ร้องได้ และคดีนี้ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งปิดคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมีอำนาจและหน้าที่ที่จะรวบรวมเงินที่ค้างชำระอยู่มาจัดการแบ่งเฉลี่ยให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ได้ จำเลยจึงมีความรับผิดเพียงจำนวนร้อยละ 15ตามที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับแล้วเท่านั้น และเงินจำนวนนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดหมายให้จำเลยนำไปชำระงวดแรกจำนวน 5,586,437.09 บาท ซึ่งจำเลยได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2532 ตามสำเนาใบรับเงินท้ายคำคัดค้าน ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะเอาทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้ได้อีก ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน การดำเนินการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้รายนี้จึงยังไม่เสร็จสิ้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมีอำนาจในการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งเป็นหลักประกันอยู่ กรณีมิใช่เป็นเรื่องอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 แต่ประการใด จึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง(เจ้าหนี้) หากยังขาดอยู่อีกเท่าใด คือ จำนวนที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด เจ้าหนี้ของจำเลยหลายร้อยรายรวมทั้งผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันเพียงรายเดียวยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนทำความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสนอต่อศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้และยกคำขอตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยจำเลยและเจ้าหนี้มิได้โต้แย้งและมีเจ้าหนี้หลายรายขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ส่วนคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังสอบสวนไม่เสร็จ หลังจากศาลชั้นต้นไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้วได้พิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยยื่นคำขอประนอมหนี้หลังล้มละลายที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลย และให้ยกเลิกการล้มละลายกับให้จำเลยมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์ต่อไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย และพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 60 จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยยื่นคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายครั้งที่สองที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการขอประนอมหนี้และสั่งยกเลิกการล้มละลาย กับให้จำเลยมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนตามพระราชบัญญัติล้มละลายต่อไป สำหรับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้น เห็นควรอนุญาตให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้รับชำระหนี้จำนวน97,068,471.20 บาท ตามคำขอรับชำระหนี้ โดยให้ขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยตามสัญญาจำนองก่อน หากยังขาดอยู่อีกเท่าไรให้ได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยจากกองทรัพย์สินของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์ที่จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาว่า ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่จำนองเป็นประกันหนี้แก่ผู้ร้องได้หรือไม่ ปรากฏตามคำขอประนอมหนี้ของจำเลยครั้งแรกลงวันที่ 11 มิถุนายน 2525 และคำแถลงเพิ่มเติมของจำเลยในที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 14 เดือนเดียวกันว่า จำเลยจะขอชำระหนี้เป็นจำนวนร้อยละ 15 ของยอดหนี้ทั้งหมดที่ไม่มีประกัน โดยยอดหนี้ทั้งหมดให้รวมหนี้ส่วนที่เกินจากหนี้จำนองจำนวนเจ็ดสิบล้านบาท (ประมาณยี่สิบเจ็ดล้านบาท) ของผู้ร้องด้วย กล่าวคือ จำนวนหนี้ที่ไม่มีประกันที่เกินเจ็ดสิบล้านบาทจำเลยยอมชำระร้อยละ 15 หากว่ามีการบังคับจำนองทรัพย์อันเป็นหลักประกันแล้วขาดอยู่เท่าไร เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ร้อยละ 15 ของส่วนที่ยังขาดอยู่ โดยขอแบ่งชำระเป็น 3 งวด ฯลฯเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจสัญญาจำนองที่ดินและเครื่องจักรของจำเลยแล้วเป็นเงินเจ็ดสิบล้านบาท หนี้ในส่วนที่ขาดจึงเป็นเงิน27,068,471.20 บาท แม้คำขอประนอมหนี้ดังกล่าวจะถูกศาลชั้นต้นสั่งยกเลิกไปและพิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้ว แต่จำเลยก็ยื่นคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายเป็นครั้งที่สอง ลงวันที่ 2 เมษายน2528 โดยระบุในคำขอประนอมหนี้ว่า จำเลยยอมชำระบรรดาหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระแล้วเป็นจำนวนร้อยละ 15 กำหนดชำระเป็น 3 งวด ฯลฯ ผู้แทนผู้ร้องได้แถลงในที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 97,068,471.20บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนองตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 96(3) ก่อน หากยังขาดอีกเท่าไรจึงให้ได้รับชำระหนี้ตาม มาตรา 130(8) แต่คดียังไม่ถึงที่สุดเพราะจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ดังกล่าวและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยและสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้ว แม้คำขอประนอมหนี้ครั้งที่สองของจำเลยจะมิได้กล่าวให้ชัดแจ้งว่า จำเลยขอชำระหนี้ที่ไม่มีประกันร้อยละ 15 ส่วนหนี้ที่มีประกันจำเลยยอมให้เจ้าหนี้บังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองก่อน สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จำเลยจะขอชำระร้อยละ15 เหมือนดังคำขอประนอมหนี้ครั้งแรก ดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำขอประนอมหนี้ทั้งสองครั้งกระทำโดยจำเลยในคดีล้มละลายเรื่องเดียวกัน เพื่อขอประนอมหนี้ในหนี้จำนวนเดียวกัน เมื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ทั้งสองครั้งประกอบกันแล้ว จะเห็นได้ว่าจำเลยมีความประสงค์จะขอประนอมหนี้เฉพาะหนี้ที่ไม่มีประกันเป็นจำนวนร้อยละ 15 ของหนี้ทั้งหมด ส่วนหนี้ที่มีประกัน จำเลยก็ยินยอมให้เจ้าหนี้บังคับเอาแก่ทรัพย์ที่เป็นหลักประกันก่อน หากยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด จำเลยจึงขอชำระหนี้ร้อยละ 15 ของจำนวนที่ขาดและคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้เป็นเงินจำนวน 97,068,471.20 บาท โดยให้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาจำนองก่อน หากยังขาดอีกเท่าใดให้ได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยจากกองทรัพย์สินของจำเลย ดังนั้น การขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองจึงเป็นการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ซึ่งศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้ การที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายและให้จำเลยมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนนั้น มิได้หมายความว่าอำนาจจัดการทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิงดังคำแก้ฎีกาของจำเลย เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังต้องมีอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลย เพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง หากยังขาดอยู่เท่าใดให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ศาลเห็นชอบด้วยแล้ว

Share