คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ 3ฟังได้ต้องกันว่า รถยนต์เกิดเหตุทั้งสองคันแล่นสวนทางกันและเกิดเฉี่ยวชนกันขึ้น การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับทิศทางวิ่งของรถยนต์ที่เกิดเหตุจากข้อความที่ว่า “รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน80-4314 เชียงใหม่ ขับจากจังหวัดตากมุ่งหน้ามาจังหวัดกำแพงเพชร”เป็น”รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-4314 เชียงใหม่ ขับจากจังหวัดกำแพงเพชรมุ่งหน้ามาจังหวัดตาก” จึงเป็นการขอแก้ไขข้อเท็จจริงให้เป็นไปตามความเป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดผลตามกฎหมายที่แตกต่างกัน เป็นการขอแก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องในคำฟ้องเพียงเล็กน้อยและไม่ทำให้จำเลยที่ 3 เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 วรรคสอง แม้โจทก์จะขอแก้ไขในวันสืบพยานก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องชอบแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า เหตุเกิดเพราะผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท ซึ่งจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 จะขาดอายุความหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอีกต่อไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสี่ล้อไว้จากโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ โจทก์ที่ 3และโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรของนายวันเชิดหรือเชิด สินทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อ และเป็นนายจ้างหรือผู้สั่งให้ผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อประโยชน์ของตน จำเลยที่ 2 ใช้รถยนต์คันดังกล่าวประกอบการขนส่งในนามและเพื่อประโยชน์ของตน จำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2528เวลาประมาณ 3 นาฬิกา ผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและขับล้ำกึ่งกลางทางเดินรถไปทางขวามือซึ่งเป็นช่องเดินรถที่สวนมาเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งขับสวนทางมาทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสียหายและผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2ถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน 356,900 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 332,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่ได้ประกอบธุรกิจรับส่งสินค้าเพื่อบำเหน็จสินจ้าง ไม่เคยรู้จักหรือมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 1 เหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมจึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้องมาไม่ถูกต้องและสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันจึงมีสิทธิฟ้องโจทก์ทั้งสี่ให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 มิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 78,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3เคลือบคลุม สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของจำเลยที่ 3 ขาดอายุความแล้วเหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันรับผิดใช้เงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 90,000 บาท โจทก์ที่ 2จำนวน 50,000 บาท และโจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 จำนวน 30,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การจำเลยที่ 3ฟังข้อเท็จจริงได้ต้องกันว่ารถยนต์เกิดเหตุทั้งสองคันดังกล่าวแล่นสวนทางกันและเกิดเฉี่ยวชนกันขึ้น การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับทิศทางวิ่งของรถยนต์ที่เกิดเหตุจากข้อความที่ว่า”รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-4314 เชียงใหม่ ขับจากจังหวัดตากมุ่งหน้ามาจังหวัดกำแพงเพชร” เป็น “รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน80-4314 เชียงใหม่ ขับจากจังหวัดกำแพงเพชรมุ่งหน้ามาจังหวัดตาก”จึงเป็นการแก้ไขข้อเท็จจริงให้เป็นไปตามความเป็นจริงไม่ก่อให้เกิดผลตามกฎหมายที่แตกต่างกันเพราะจำเลยที่ 3 ก็ให้การรับอยู่แล้วว่ารถยนต์เกิดเหตุทั้งสองคันแล่นสวนทางกันแล้วเกิดชนกันเพียงแต่จำเลยที่ 3 ต่อสู้ว่าเหตุที่ชนกันเป็นเพราะรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 แล่นล้ำกึ่งกลางทางเดินรถเข้าไปชนรถยนต์ของจำเลยที่ 1เท่านั้น จึงเป็นการขอแก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องในคำฟ้องเพียงเล็กน้อยไม่ทำให้จำเลยที่ 3 เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180วรรคสอง เดิม แม้จะกระทำในวันสืบพยานก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องดังกล่าวชอบแล้ว การนำสืบของโจทก์จึงไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าเหตุเกิดเพราะผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท ซึ่งจำเลยที่ 3ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3จะขาดอายุความหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอีกต่อไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share