คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 136/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เพื่อรอฟังผลที่โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาเมื่อผลคดีอาญาศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยกลับมาอ้างเหตุว่าพฤติการณ์ของโจทก์ส่อไปในทางทุจริตแล้วบอกเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์เช่นนี้ เป็นการขัดกับคำสั่งพักงานเดิม และขัดกับคำพิพากษาในคดีอาญา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ในระหว่างช่วงเวลาที่จำเลยสั่งให้โจทก์พักงานนั้นโจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ สภาพการเป็นลูกจ้างและนายจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป การที่โจทก์ไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยก็เนื่องมาจากคำสั่งของจำเลยเอง และไม่มีระเบียบว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างจึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ เงินเดือนของโจทก์เป็นค่าจ้างที่คนงานเรียกเอาจากนายจ้างจึงมีอายุความ 2 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 165(9).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2520 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน เงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 4,500 บาท วันที่ 25 มิถุนายน 2530 จำเลยสั่งพักงานโจทก์ และดำเนินคดีอาญาโจทก์ข้อหายักยอกทรัพย์ คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลพิพากษายกฟ้อง ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน2530 โดยอ้างว่าเงินในความรับผิดชอบของโจทก์ขาดหายไปจำนวนมากพฤติการณ์ของโจทก์ส่อไปในทางทุจริต โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การที่เงินหายไปเกิดจากความบกพร่องของพนักงานคนอื่นการเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายในระหว่างพักงานโจทก์เป็นเงิน220,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย 8,563.25 บาท และดอกเบี้ยอีกร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ และค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 94,500 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน สาขาประจวบคีรีขันธ์ของจำเลย ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 4,305 บาทจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ เพราะโจทก์ถูกดำเนินคดีอาญา โดยให้พนักงานตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2530 จนกว่าผลคดีอาญาจะถึงที่สุดทั้งนี้เนื่องจากเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2530 เงินในความรับผิดชอบของโจทก์ได้ขาดหายไป 209,360 บาท จำเลยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ยักยอกเงินดังกล่าว คดีถึงที่สุดศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อต้นปี2534 วันที่ 22 กรกฎาคม 2534 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากพฤติการณ์ของโจทก์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ส่อไปในทางไม่สุจริตการเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว โดยมีคำสั่งให้เลิกจ้างตั้งแต่พักงานคือวันที่ 23 มิถุนายน 2530 ความเป็นลูกจ้างของโจทก์จึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2530 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายและค่าจ้างระหว่างถูกพักงานและค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2530 ถึงเดือนธันวาคม 2532ขาดอายุความเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 2 ปี
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยที่ให้มีผลเลิกจ้างเป็นการย้อนหลังไม่ชอบ สิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างเป็นการเรียกเอาสินจ้างมีกำหนดอายุความสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9) ค่าจ้างเดือนมิถุนายน 2530 ถึงธันวาคม 2532ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าจ้าง 84,808.50 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 80,503.50 บาทนับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2534 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เงินเดือนของโจทก์เป็นค่าจ้างที่คนงานเรียกเอาจากนายจ้างมีอายุความสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9) เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า กำหนดจ่ายค่าจ้างในวันสิ้นเดือน เช่นนี้ การจ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่ 1 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2530 ก่อนโจทก์ถูกสั่งพักงานจึงตกเป็นวันที่30 มิถุนายน 2530 โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่30 มิถุนายน 2530 เป็นต้นมา การที่โจทก์ถูกสั่งพักงานและถูกดำเนินคดีอาญาไม่เป็นอุปสรรคที่โจทก์จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนและไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์มิได้บังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนภายในเวลาซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2530 ถึงเดือนธันวาคม 2532 จึงขาดอายุความอุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น… คำสั่งพักงานโจทก์ของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 อ้างเหตุว่า โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญา จึงให้พักงานตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2530 จนกว่าคดีจะถึงที่สุดซึ่งตามคำสั่งนี้ปรากฏชัดแจ้งอยู่แล้วว่าในระหว่างช่วงระยะที่ให้พักงานดังกล่าว จำเลยไม่มีเจตนาจะเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใดเป็นเพียงแต่จำเลยประสงค์ให้โจทก์หยุดทำงานเพียงชั่วคราวเพื่อรอฟังผลที่โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาเท่านั้น เมื่อผลคดีอาญาศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยกลับมาอ้างเหตุว่าพฤติการณ์ของโจทก์ส่อไปในทางทุจริต แล้วบอกเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์เช่นนี้ เป็นการขัดกับคำสั่งพักงานเดิม และขัดกับคำพิพากษาในคดีอาญา คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยที่ให้มีผลเลิกจ้างเป็นการย้อนหลังจึงไม่ชอบอุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ระหว่างช่วงเวลาพักงานถึงวันเลิกจ้าง โจทก์ไม่ได้ทำงานตอบแทนค่าจ้างให้แก่จำเลยแต่อย่างใดโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างในช่วงพักงานนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในระหว่างช่วงเวลาที่จำเลยสั่งให้โจทก์พักงานนั้น โจทก์ยังเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่ สภาพของการเป็นลูกจ้างและนายจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป การที่โจทก์ไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยก็เนื่องมาจากคำสั่งของจำเลยเอง และไม่มีระเบียบว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share