คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดคดีที่ ส.ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยฟ้องผู้ร้องยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ซึ่ง ส. เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยได้ขอหมายเรียกจำเลยมาในคดีนั้นแล้ว แต่จำเลยมิได้เข้ามาในคดี ดังนั้นส. จึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้จากผู้ร้องเท่าจำนวนที่ผู้ร้องลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่จำเลยนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234,235 แล้ว และไม่มีหนี้ในส่วนนี้ที่ ส. จะนำไปใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายได้อีก เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จนมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้ผู้ร้องชำระหนี้แก่ ส.ส. จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้อง ซึ่งอาจบังคับเอาแก่ผู้ร้องได้ตามกฎหมาย เมื่อผู้ร้องได้ชำระหนี้แก่ ส. ไปตามคำพิพากษาแล้วจึงเป็นการชำระหนี้ที่ได้ทำให้บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 315 การชำระหนี้ดังกล่าวหาใช่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 ไม่ ผู้ร้องจึงไม่ได้เป็นหนี้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยอีกต่อไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ร้องชำระหนี้จำนวนดังกล่าวซ้ำอีก

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ร้องให้ชำระหนี้จำนองเป็นเงิน 800,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2ผู้ร้องได้ปฏิเสธหนี้ต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วได้มีหนังสือยืนยันว่า ผู้ร้องยังค้างชำระหนี้จำนองดังกล่าวอีก 300,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 2จำนวน 800,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และได้จดทะเบียนจำนองที่ดินมีโฉนดหนึ่งแปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมาผู้ร้องได้ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 ไปจำนวน 500,000 บาทแล้วปรากฎว่าจำเลยที่ 2 หลบหนีไปต่างประเทศ ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถติดต่อจำเลยที่ 2 ได้ ต่อมาก่อนฟ้องคดีนี้นางสาวสร้อยเกลียวคุณรัตนาทร ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ฟ้องผู้ร้องให้ชำระหนี้และไถ่จำนองที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้ส่วนที่เหลือ 300,000 บาท ศาลได้พิพากษาตามยอมปรากฎตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13450/2529 ของศาลชั้นต้น ต่อมาผู้ร้องได้ชำระหนี้ตามยอมแก่นางสาวสร้อยเกลียว ครบถ้วนแล้วหลังจากนั้นผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวให้ผู้ร้องเนื่องจากได้ชำระหนี้หมดแล้วหากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับตามคำขอของผู้ร้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1936/2530 ของศาลชั้นต้น ผู้ร้องได้นำคำพิพากษาของศาลไปดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองเป็นที่เรียบร้อย มูลหนี้ที่ผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยที่ 2 อยู่ จึงระงับไป ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจจะเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้รายเดียวกันนี้ซ้ำอีก
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างนางสาวสร้อยเกลียว คุณรัตนาทร กับผู้ร้องตามที่ผู้ร้องอ้างเป็นหนี้ที่เกิดจากการสมยอม ไม่มีการชำระหนี้กันจริง จำเลยที่ 2ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2529นางสาวสร้อยเกลียวกับผู้ร้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2529 หลังจากที่จำเลยที่ 2ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วอำนาจจัดการทรัพย์สินรวมทั้งการชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 จึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 นางสาวสร้อยเกลียวไม่มีสิทธิจะใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ได้ หากจะฟังว่าผู้ร้องได้ชำระหนี้จำนวน 300,000 บาท แก่นางสาวสร้อยเกลียวไปจริงก็เป็นการชำระหนี้แก่ผู้ที่ไม่มีอำนาจรับชำระ หนี้ไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208 วรรคหนึ่ง, 315
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำสืบรับกันและไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2525 ผู้ร้องได้กู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 ไป800,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และได้จำนองที่ดินมีโฉนด 1 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2527 ผู้ร้องได้ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 ไป500,000 บาท ตามใบรับเงินเอกสารหมาย ร.1 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน2528 นางสาวสร้อยเกลียว คุณรัตนาทร ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 650,000 บาท ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ฟ้องผู้ร้องให้ชำระหนี้จำนองจำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่นางสาวสร้อยเกลียวและไถ่ถอนจำนอง ผู้ร้องได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้แก่นางสาวสร้อยเกลียวเป็นเงิน300,000 บาท ศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีให้เสร็จไปตามยอมเมื่อวันที่23 กรกฎาคม 2529 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13450/2529 ของศาลชั้นต้นผู้ร้องได้ชำระหนี้จำนวน 300,000 บาท แก่นางสาวสร้อยเกลียวแล้วต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2529 ผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองแก่ผู้ร้อง หากไม่ไปให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับให้ตามคำขอของผู้ร้องคดีถึงที่สุดแล้ว ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1936/2530 ของศาลชั้นต้นผู้ร้องได้นำคำพิพากษาไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองเรียบร้อยแล้ว
คดีมีปัญหาตามฎีกาผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้องชำระหนี้ให้แก่นางสาวสร้อยเกลียว ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2ฟ้องบังคับให้ผู้ร้องชำระหนี้นั้น จะถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ขณะผู้ร้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมแก่นางสาวสร้อยเกลียว ผู้ร้องไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงเป็นการชำระหนี้โดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้คัดค้านแก้ฎีกาว่าคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นคำสั่งในคดีล้มละลาย ย่อมใช้ยันบุคคลภายนอกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(1) เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 2เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดกิจการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 นางสาวสร้อยเกลียวจึงชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย และผู้ร้องไม่มีสิทธิชำระหนี้ของจำเลยที่ 2แก่นางสาวสร้อยเกลียวตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังตามคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้าน แต่ก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด คดีที่นางสาวสร้อยเกลียวใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ฟ้องผู้ร้องยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ซึ่งนางสาวสร้อยเกลียวเจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2ได้ขอหมายเรียกจำเลยที่ 2 มาในคดีนั้นแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้เข้ามาในคดี ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลในคดีดังกล่าว ลงวันที่30 เมษายน 2529 ดังนั้นนางสาวสร้อยเกลียวจึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้จากผู้ร้องเท่าจำนวนที่ผู้ร้องลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่จำเลยที่ 2 นั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 234, 235 แล้ว และไม่มีหนี้ในส่วนนี้ที่นางสาวสร้อยเกลียวจะนำไปใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2ในคดีล้มละลายได้อีก ดังข้ออ้างตามคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านเมื่อคดีแพ่งดังกล่าวได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จนมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้ผู้ร้องชำระหนี้แก่นางสาวสร้อยเกลียว นางสาวสร้อยเกลียวจึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้อง ซึ่งอาจบังคับเอาแก่ผู้ร้องได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ร้องได้ชำระหนี้แก่นางสาวสร้อยเกลียวไปตามคำพิพากษาแล้วจึงเป็นการชำระหนี้ที่ได้ทำให้บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 315 การชำระหนี้ดังกล่าวหาใช่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 ไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องได้ชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่จำเลยที่ 2 ให้นางสาวสร้อยเกลียวเจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาที่อาจบังคับเอาแก่ผู้ร้องได้แล้วเช่นนี้ ผู้ร้องจึงไม่ได้เป็นหนี้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2อีกต่อไป ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ร้องชำระหนี้จำนวนดังกล่าวซ้ำอีก ปัญหาที่ว่าผู้ร้องได้ชำระหนี้แก่นางสาวสร้อยเกลียวโดยรู้ว่าจำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2

Share