แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ประกอบกิจการแพปลา รับซื้อปลาจากชาวประมง จำเลยเป็นชาวประมง เมื่อออกเรือจับปลาได้แล้วนำไปขายให้โจทก์ แต่การออกเรือจับปลาจะต้องลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โจทก์จำเลยตกลงกันโดยโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินล่วงหน้าและโจทก์ยังยอมออกเงินทดรองเป็นค่าใช้จ่ายแทนจำเลย เมื่อจำเลยนำปลาไปขายให้โจทก์ก็จะมีการคิดบัญชี แล้วหักหนี้จากราคาปลา เงินส่วนที่เหลือเป็นของจำเลย ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยให้หักทอนบัญชีอันเกิดจากกิจการในระหว่างเขาทั้งสองแล้วหักกลบลบหนี้ให้ทราบว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ อันต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 ซึ่งไม่บังคับว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ กรณีไม่ใช่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์โดยตรง แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือก็ฟ้องจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 ถ้าคู่ความไม่ยอมชำระค่าอ้างเอกสาร ศาลมีอำนาจไม่รับฟังพยานเอกสารนั้นได้ซึ่งคำว่า ไม่ยอม มีความหมายว่าจงใจฝ่าฝืนไม่ชำระ แต่ในกรณีหลงลืมซึ่งไม่จงใจฝ่าฝืน ศาลย่อมมีอำนาจรับชำระค่าอ้างเอกสารหลังจากมีคำพิพากษาแล้วได้ เพราะชำระเพียงครั้งเดียวรับฟังได้ถึงสามชั้นศาล ดังนั้น จะชำระในชั้นศาลใดย่อมไม่มีผลแตกต่างไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้รับฟังหากเพิ่งชำระในศาลชั้นสูงเมื่อชำระแล้วก็รับฟังได้ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์คิดตามทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับซื้อปลาจากชาวประมงโดยมีแพปลาชื่อแพปลาราชา จำเลยมีเรือประมงเมื่อจับปลาได้แล้วนำมาขายให้โจทก์ มีข้อตกลงกันว่าในการออกจับปลาแต่ละเที่ยวจำเลยให้โจทก์เป็นผู้ออกเงินค่าน้ำมันลงเรือ ค่าน้ำแข็ง ค่าน้ำและค่าอื่น ๆ และโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินล่วงหน้าเพื่อสำรองจ่ายในกิจการเรือประมงของจำเลยโดยจำเลยจะลงชื่อไว้ในใบเบิกเงินเบ็ดเตล็ดให้โจทก์เก็บไว้ฉบับหนึ่ง จำเลยเก็บไว้ฉบับหนึ่ง จำเลยยอมให้โจทก์หักเงินดังกล่าวจากราคาปลาตามจำนวนที่พอสมควร เริ่มปฎิบัติเช่นนี้ตั้งแต่ปี 2530 จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2532 จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์73,446 บาท หลังจากวันที่ 20 มกราคม 2532 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม2532 จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ 460,114 บาท ต่อมากลางเดือนสิงหาคม2532 จำเลยผิดสัญญานำปลาไปขายให้ผู้อื่น โจทก์จึงทวงถามจำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉย เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 460,114 บาทนับแต่วันครบกำหนดทวงถามคือวันที่ 20 กันยายน 2532 ถึงวันฟ้องคือวันที่ 25 ตุลาคม 2532 เป็นเวลา 20 วันเศษ เป็นค่าดอกเบี้ย1,917 บาท รวมเป็นเงิน 426,031 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ 460,114บาท โจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ จึงไม่อาจฟ้องร้องได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 109,291 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2532จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยรับผิดเพียงเท่าที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความ4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า โจทก์จะต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือมาฟ้องจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า โจทก์ประกอบกิจการแพปลา รับซื้อปลาจากชาวประมงจำเลยเป็นชาวประมง เมื่อออกเรือจับปลาได้แล้วนำไปขายให้โจทก์แต่การออกเรือจับปลาจะต้องลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โจทก์จำเลยตกลงกันโดยโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินล่วงหน้าและโจทก์ยังยอมออกเงินทดรองเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวแทนจำเลย เมื่อจำเลยนำปลาไปขายให้โจทก์ก็จะมีการคิดบัญชี แล้วหักหนี้จากราคาปลาเงินส่วนที่เหลือเป็นของจำเลย ข้อเท็จจริงเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยให้หักทอนบัญชีอันเกิดจากกิจการในระหว่างเขาทั้งสองแล้วหักกลบลบหนี้ให้ทราบว่า ฝ่ายใดเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ อันต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 ซึ่งไม่บังคับว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ กรณีมิใช่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์โดยตรง แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือก็ฟ้องจำเลยได้
ปัญหาข้อกฎหมายข้อต่อไป จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้เสียค่าจ้างเอกสารหมาย จ.1 จ.2 จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อแสดงจำนวนหนี้สินว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ได้ ข้อนี้ปรากฎว่าหลังจากจำเลยยื่นอุทธรณ์และยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้แล้ว โจทก์ยื่นคำแถลงขอเสียค่าอ้างเอกสารดังกล่าวอ้างว่าหลงลืม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าศาลพิพากษาคดีแล้วจึงไม่รับ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จดรายงานกระบวนพิจารณาให้รับค่าอ้างเอกสารดังกล่าวไว้ จำเลยจึงฎีกาต่อมาว่าไม่อาจทำให้กลับคืนดีได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 ถ้าคู่ความไม่ยอมชำระค่าอ้างเอกสารศาลมีอำนาจไม่รับฟังพยานเอกสารนั้นได้ ซึ่งคำว่า ไม่ยอม มีความหมายว่าจงใจฝ่าฝืนไม่ชำระ แต่ในกรณีหลงลืมซึ่งไม่จงใจฝ่าฝืน ศาลย่อมมีอำนาจรับชำระค่าอ้างเอกสารหลังจากมีคำพิพากษาแล้วได้ เพราะชำระเพียงครั้งเดียวรับฟังได้ถึงสามชั้นศาล ดังนั้น จะชำระในชั้นศาลใดย่อมไม่มีผลแตกต่าง ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้รับฟังหากเพิ่งชำระในชั้นศาลสูง เมื่อชำระแล้วก็รับฟังได้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับฟังเอกสารหมาย จ.1 จ.2 จึงชอบแล้ว
ปัญหาข้อกฎหมายข้อต่อไป จำเลยฎีกาว่า ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์มีเพียง 109,291 บาท ศาลกำหนดค่าทนายความได้ไม่เกินร้อยละ 3แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ถึง4,000 บาท ซึ่งมากเกินกว่าร้อยละ 3 จึงขอให้กำหนดลดลง ข้อฎีกานี้ฟังขึ้น โดยศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว ได้แก่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 166/2490 คดีระหว่างนายสิทธิ พูลชัยกับพวก โจทก์ นางเป่า บำรุงสวน จำเลย ซึ่งได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์คิดตามทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์”
พิพากษายืน เว้นแต่ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยใช้แทนโจทก์เพียง 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ