คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6866/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การเป็นไปเพื่อความสะดวกในการดำเนินคดีของจำเลย ทั้งเพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล มิใช่เพิ่งจะเกิดมีสิทธิที่จะฟ้องโจทก์ขึ้นมาภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลย การที่โจทก์ไม่นำค่าขึ้นศาลมาเสียเพิ่มภายในกำหนดตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องการทิ้งคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว แม้จะมีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้องแต่ก็มีผลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องของโจทก์เท่านั้น ไม่มีผลไปถึงฟ้องแย้งของจำเลย ซึ่งโจทก์เป็นจำเลยฟ้องแย้ง เพราะเป็นคนละส่วนกันศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของฟ้องแย้งต่อไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926 เดิมเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 15 เมื่อเดือนธันวาคม 2530 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอสิชล ไปทำการรังวัดที่ดินโจทก์เพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) พบว่าก่อนหน้านั้นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอสิชล ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2604 และ 2486 ให้แก่นายเกลื่อม ผลสิริและนายสำราญ ไชยพงศ์ ตามลำดับ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ทับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะทายาทของนายเกลื่อมและนายสำราญต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3เป็นนายอำเภอสิชล ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2604 และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิกถอนหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2486 หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งในทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นภริยาผู้มีสิทธิรับมรดกของนายเกลื่อม ผลสิริจำเลยที่ 2 เป็นภริยาผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสำราญ ไชยพงศ์ที่ดินของนายเกลื่อมและนายสำราญ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) โดยชอบ แต่ที่ดินของโจทก์ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ทับที่ดินของนายเกลื่อมและนายสำราญโดยไม่ชอบเนื่องจากทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ให้โจทก์ภายหลังห่างกันหลายปี ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นายเกลื่อมและนายสำราญทราบมาตั้งแต่ต้นว่าระวางที่ดินของตนออกทับระวางที่ดินของโจทก์ การที่นายเกลื่อมและนายสำราญออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ในที่ดินดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำค่าขึ้นศาลมาเสียเพิ่มภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง โจทก์ทราบคำสั่งแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้องและให้สืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้องแย้งต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926 เล่ม 30 ก. หน้า 26 เลขที่ดิน 491ระวางรูปถ่ายทางอากาศชื่อบ้านต้นเหลียง หมายเลข 4926 แผ่น 8, 22ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช คำขออื่นตามฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง แต่ก็ดำเนินกระบวนพิจารณาฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อไปได้นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของโจทก์จึงขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ทับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับมรดก จึงขอให้บังคับให้โจทก์เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของโจทก์ จะเห็นได้ว่าตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวจำเลยที่ 1และที่ 2 มีสิทธิที่จะฟ้องโจทก์ได้อยู่แล้วแม้โจทก์จะไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องแย้งมาในคำให้การจึงเป็นไปเพื่อความสะดวกในการดำเนินคดีของจำเลยที่ 1และที่ 2 ทั้งเพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลมิใช่เพิ่งจะเกิดมีสิทธิที่จะฟ้องโจทก์ขึ้นมาภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนั้นการที่โจทก์ไม่นำค่าขึ้นศาลมาเสียเพิ่มภายในกำหนดตามคำสั่งศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง การทิ้งคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว แม้จะมีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง แต่ก็มีผลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องของโจทก์เท่านั้น หามีผลไปถึงฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งโจทก์เป็นจำเลยฟ้องแย้งไม่ เพราะเป็นคนละส่วนกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมถูกลบล้างหรือต้องตกไปด้วย และพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share