คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6846/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์100,000 บาท จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ลูกจ้างของจำเลยมิได้ประมาทก็ดี ค่าเสียหายของโจทก์ไม่ควรเกินกว่า 30,000 บาท ก็ดี เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของ ว.ให้รับผิดแต่โจทก์มิใช่ผู้กระทำผิด หรือได้ร่วมกระทำผิดทางอาญากับ ว.จึงไม่อาจนำอายุความทางอาญามาใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน10-0182 ภูเก็ต โดยใช้ประกอบกิจการเดินรถโดยสารประจำทางสายจังหวัดภูเก็ต-กระบี่ จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-0999 ภูเก็ต นายจรวย ณ นคร เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2531 เวลากลางวัน นายจรวยขับรถยนต์ดังกล่าวไปในทางการของจำเลยจากอำเภอถลางมุ่งไปทางสะพานสารสินโดยประมาท เมื่อถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 40-41 บนถนนเทพกระษัตรี นายจรวยขับล้ำเข้าไปในช่องเดินรถด้านขวามือซึ่งเป็นช่องเดินรถที่แล่นสวนมา เป็นเหตุให้ชนรถยนต์ของโจทก์ดังกล่าว ในช่องเดินรถของโจทก์ซึ่งนายวินิจ เจริญ ขับสวนมาทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 84,773 บาทค่านำรถยนต์ไปอู่ซ่อมรถจังหวัดนครปฐมเป็น เงิน 13,000 บาท ค่าขาดรายได้ในการเดินรถโดยสารนับแต่วันละเมิดถึงวันประกอบกิจการได้เป็นเวลา 2 เดือน คิดเป็นเงิน 60,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 168,619.89 บาท พร้อมดอกเบี้ย จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทของนายวินิจลูกจ้างโจทก์ที่ขับรถยนต์ของโจทก์ในทางการที่จ้างของโจทก์ล้ำเข้าไปช่องเดินรถของนายจรวยที่ขับรถยนต์ของจำเลยทำให้รถยนต์ของจำเลยเสียหายซ่อมแซมไม่ได้ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ราคารถเป็นเงิน 250,000 บาท นอกจากนี้ ค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ไม่เกินกว่า 20,000 บาท และไม่จำเป็นต้องนำรถไปซ่อมที่จังหวัดนครปฐม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่านำรถไปซ่อม สำหรับการขาดรายได้ของโจทก์ไม่แน่นอน ซึ่งอาจมีกำไรหรือขาดทุกก็ได้จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้รวมทั้งดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามลูกจ้างโจทก์เป็นผู้ก่อให้เกิดเหตุละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยเป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของนายจรวยลูกจ้างจำเลย และฟ้องแย้งของจำเลยเกินเวลา 1 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 137,273 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ1,500 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับตามฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน100,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะนายจ้างให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เนื่องจากลูกจ้างของจำเลยทำละเมิดโจทก์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 100,000 บาท จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ลูกจ้างของจำเลยมิได้ประมาทก็ดี ค่าเสียหายของโจทก์ไม่ควรเกินกว่า 30,000 บาท ก็ดีเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาว่าฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าเหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2531 หลังจากเกิดเหตุแล้วพนักงานสอบสวนได้สอบสวนโจทก์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2531ได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุที่มีนายวินิจเป็นคนขับและสอบสวนจำเลยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยจึงรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าก็ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2531 เมื่อจำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การวันที่ 3 เมษายน 2532 ซึ่งเป็นเวลาเกิน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา448 วรรคแรก ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาและอายุความทางอาญามีกำหนด5 ปี ต้องนำอายุความทางอาญามาใช้บังคับนั้น เห็นว่า จำเลยฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของนายวินิจให้รับผิด แต่โจทก์มิใช่ผู้กระทำผิดหรือได้ร่วมกระทำผิดทางอาญากับนายวินิจ จึงไม่อาจนำอายุความทางอาญามาใช้บังคับตามที่จำเลยฎีกาได้
พิพากษายืน

Share