แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง จะนำอายุความ1 ปี ในมูลละเมิดตามมาตรา 448 มาใช้บังคับมิได้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ละคนต้องชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์โดยสิ้นเชิงเพียงครั้งเดียว จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา 291 ซึ่งตามมาตรา 295 บัญญัติให้กำหนดอายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น แม้ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ได้ขาดอายุความไปแล้วก็เป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น หามีผลถึงจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไม่ และการที่คดีขาดอายุความสำหรับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เหตุที่ทำให้หนี้ดังกล่าวระงับไป ดังนั้นจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 887
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย นายกัณหา ได้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้มาถึงบริเวณหน้าโรงงานมันได้มีรถยนต์บรรทุกซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับปฏิบัติการตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แซงรถจักรยานสองล้อที่แล่นอยู่ด้านหน้าล้ำเข้าไปในเส้นทางทางขวามือจึงได้ชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งแล่นสวนทางมาด้วยความประมาทของจำเลยที่ 1เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยพลิกตะแคงอยู่ข้างทางได้รับความเสียหาย โจทก์จึงได้จัดการซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวเป็นเงิน 32,912 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสามพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,840.35 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 32,912 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้การเป็นทำนองเดียวกันว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุคดีนี้ต้องอาศัยอายุความจากมูลละเมิดหาใช่อาศัยอายุความ 10 ปีนับจากวันที่โจทก์อ้างว่ารับช่วงสิทธิไม่ เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถจักรยานยนต์ รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเสียหายไม่เกิน 11,100 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 32,912 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับ จำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายประการเดียวว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ซึ่งจะต้องรับผิดในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคแรก เมื่อจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะขาดอายุความเรื่องละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยเห็นว่าอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 เป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดซึ่งกำหนดไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ขอบังคับให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ อันเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่งจะนำอายุความในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 มาใช้บังคับกับคดีนี้มิได้ เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 26กรกฎาคม 2528 โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2529 คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 ไม่ขาดอายุความ ทั้งโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3ผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ละคนต้องชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์โดยสิ้นเชิงเพียงครั้งเดียว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 ซึ่งตามมาตรา 295 บัญญัติให้กำหนดอายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น แม้ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ได้ขาดอายุความไปแล้วก็เป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น หามีผลถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไม่ และการที่คดีขาดอายุความสำหรับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เหตุที่ทำให้หนี้ดังกล่าวระงับไป ดังนั้นจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887
พิพากษายืน