แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อหน้าโจทก์ร่วมและลูกน้องของโจทก์ร่วมว่า”แม่มึงไม่ต้องไปฟัง กูจะเอาอย่างนี้ ถ้าเซ็นไม่ได้ก็ไม่เป็นไรคุณเป็นหัวหน้าคนได้อย่างไร ทำงานไม่รับผิดชอบ ตัดสินปัญหาไม่ได้พอมีปัญหาก็โยนกันไปโยนกันมา คน ร.ส.พ. ทำงานกันอย่างนี้หรือ”โดยกล่าวในที่ทำงานของโจทก์ร่วมขณะที่โจทก์ร่วมกำลังปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นการสบประมาทโจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมอับอายขายหน้าเป็นการดูหมิ่นโจทก์ร่วมซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393และเนื่องจากถ้อยคำดังกล่าวเป็นการวิจารณ์การทำงานของโจทก์ร่วมที่กล่าวต่อโจทก์ร่วมโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้านายสุวัฒิชัย ทองรัตน์ ผู้เสียหาย โดยพูดใส่ความผู้เสียหายต่อหน้าบุคคลที่สามว่า “แม่มึงไม่ต้องไปฟัง กูจะเอาอย่างนี้ ถ้าเซ็นไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คุณเป็นหัวหน้าคนได้อย่างไร ทำงานไม่รับผิดชอบตัดสินปัญหาไม่ได้ พอมีปัญหาก็โยนกันไปโยนกันมา คน ร.ส.พ.ทำงานอย่างนี้เองหรือ” ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393, 90
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสุวัฒิชัย ทองรัตน์ ผู้เสียหาย ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมเพียงประการเดียวว่า ถ้อยคำที่จำเลยพูดต่อหน้าโจทก์ร่วมตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องนั้นจะเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าวันเกิดเหตุ จำเลยกับนายอำนวย พลเภรีย์ไปหาโจทก์ร่วมที่ห้องทำงานเพื่อให้โจทก์ร่วมลงนาม ในหนังสือรับรองการเบิกค่ารักษาพยาบาลของจำเลย โจทก์ร่วมให้นางสาวจินตนามีสุวรรณ์ นำไปตรวจสอบ จึงเกิดการโต้เถียงกัน จำเลยพูดขึ้นว่า”แม่มึงไม่ต้องไปฟัง กูจะเอาอย่างนี้ ถ้าเซ็นไม่ได้ก็ไม่เป็นไรคุณเป็นหัวหน้าคนได้อย่างไร ทำงานไม่รับผิดชอบ ตัดสินปัญหาไม่ได้พอมีปัญหาก็โยนกันไปโยนมา คน ร.ส.พ.ทำงานกันอย่างนี้หรือเห็นว่า จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าโจทก์ร่วมในสถานที่ทำงานของโจทก์ร่วม และในขณะที่โจทก์ร่วมกำลังปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นการสบประมาทโจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมอับอายขายหน้า จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 แต่ถ้อยคำดังกล่าวข้างต้นเป็นการดูหมิ่นและวิจารณ์การทำงานของโจทก์ร่วมและกล่าวถึงโจทก์ร่วมโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ให้ลงโทษปรับจำเลย 1,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์