คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6419/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เด็กหญิงข.หลบหนีออกจากบ้านเพียงไปดูภาพยนตร์ซึ่งไม่ห่างไกลจากบ้านที่อยู่ เมื่อภาพยนตร์เลิกแล้วก็คงกลับบ้านหากไม่ถูกจำเลยพาไป อำนาจในการปกครองดูแลของ จ. ผู้ปกครองดูแลจึงหาได้สิ้นสุดลงไม่ จำเลยพาเด็กหญิงข.ไปอยู่ที่อื่นหลายวันและได้กระทำชำเราเด็กหญิง ข. หลายครั้ง ถือว่าเป็นการพรากเด็กหญิงข. ออกจากจ. โดยปราศจากเหตุอันสมควรและเป็นการกระทำอนาจารด้วยแม้ขณะเกิดเหตุเด็กหญิง ข. อายุ 13 ปี แต่มีรูปร่างสมบูรณ์กว่าเด็กปกติทั่วไปตามสายตาของบุคคลภายนอกจะประมาณว่ามีอายุประมาณ17 ถึง 18 ปี ซึ่งจำเลยก็สำคัญผิดเช่นนั้น จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคแรก จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277,317, 91
ชั้นแรกจำเลยให้การรับสารภาพ ต่อมาก่อนมีการสืบพยานโจทก์จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นปฏิเสธ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 จำคุก 3 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการพรากเด็กหญิงขนิษฐา ฟักนาค ไปเสียจากนางจันทร์สี โคกกระชาย ผู้ปกครองเพื่อการอนาจารหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่า เด็กหญิงขนิษฐามีอายุ 13 ปี แต่เนื่องจากมีรูปร่างสมบูรณ์กว่าเด็กทั่วไปจึงประมาณว่ามีอายุ 17 ปี ถึง 18 ปีนางจันทร์สีเป็นผู้ปกครองดูแลเด็กหญิงขนิษฐา เมื่อวันที่ 9มิถุนายน 2534 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา เด็กหญิงขนิษฐาซึ่งหนีออกจากบ้านไปดูภาพยนตร์ได้พบกับจำเลยที่หน้าโรงภาพยนตร์คืนนั้นจำเลยพาเด็กหญิงขนิษฐาไปพักที่บังกาโลสาหร่ายทอง วันรุ่งขึ้นจึงพาไปพักที่บ้านนายเนียม พรมทา จนกระทั่งถึงวันที่ 18 มิถุนายน2534 โดยเด็กหญิงขนิษฐาเต็มใจไปกับจำเลยขณะพักอยู่ที่บังกะโลสาหร่ายทองและที่บ้านนายเนียม จำเลยซึ่งสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่า เด็กหญิงขนิษฐามีอายุ 17 ปี ถึง 18 ปี ได้กระทำชำเราเด็กหญิงขนิษฐาด้วยความสมัครใจของเด็กหญิงขนิษฐาหลายครั้ง ที่จำเลยฎีกาว่า ก่อนเกิดเหตุภายหลังจากเด็กหญิงขนิษฐาได้หลบหนีออกจากบ้านมา เด็กหญิงขนิษฐาเป็นอิสระจากการควบคุมดูแลของนางจันทร์สีแล้วเด็กหญิงขนิษฐาจะไปไหนก็ได้ตามอำเภอใจนอกเหนืออำนาจการควบคุมดูแลของนางจันทร์สี ถือได้ว่าอำนาจในการปกครองดูแลนั้นถูกรบกวนแยกสิทธิและขาดตอนลงแล้วก่อนเกิดเหตุจำเลยพาเด็กหญิงขนิษฐาไปพักในที่ต่าง ๆ ภายหลังที่อำนาจการดูแลของนางจันทร์สีถูกรบกวนแยกสิทธิอยู่ก่อนแล้ว จึงขาดองค์ประกอบแห่งการกระทำความผิดตามกฎหมายนั้นเห็นว่า คำว่า”พราก”ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ให้คำจำกัดความไว้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า จากไป แยกออกจากกัน เอาออกจากกัน การที่เด็กหญิงขนิษฐาหลบหนีออกจากบ้านเพียงไปดูภาพยนตร์ซึ่งไม่ห่างไกลจากบ้านที่อยู่ เมื่อภาพยนตร์เลิกแล้วก็คงกลับบ้านหากไม่ถูกจำเลยพาไป อำนาจในการปกครองดูแลของนางจันทร์สีหาได้สิ้นสุดลงไม่ จำเลยพาเด็กหญิงขนิษฐาไปอยู่ที่อื่นหลายวันเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการแยกอันเป็นการพรากเด็กหญิงขนิษฐาออกจากนางจันทร์สีโดยปราศจากเหตุอันสมควรแล้วและเมื่อระหว่างที่พาเด็กหญิงขนิษฐาไปพักในที่ต่าง ๆ จำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิงขนิษฐาหลายครั้ง ถือว่าเป็นการกระทำอนาจารด้วย แม้ขณะเกิดเหตุเด็กหญิงขนิษฐาอายุ 13 ปี แต่เด็กหญิงขนิษฐามีรูปร่างสมบูรณ์กว่าเด็กปกติทั่วไปตามสายตาของบุคคลภายนอกดูแล้วจะประมาณว่ามีอายุประมาณ 17 ถึง 18 ปี ดังคำตอบคำถามค้านของนางจันทร์สี จำเลยก็สำคัญผิดเช่นนั้น จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่ศาลอุทธรณ์ไม่ระบุวรรคและปรับบทเรื่องกระทำสำคัญผิด ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 62 วรรคแรก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share