คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6009/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดไว้ จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2528 แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา สัญญาดังกล่าวจึงยังคงมีอยู่ต่อมา เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ โจทก์จึงนำเงินตามใบรับเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 และตามสมุดเงินฝากประจำของ ต. ที่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันมาหักชำระหนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2529 เป็นการบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่า โจทก์ได้เลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันดังกล่าวแล้วโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้จนถึงวันที่14 มีนาคม 2529 อันเป็นวันเลิกสัญญาเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และจำเลยที่ 1 ยังได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์อีก 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 17พฤษภาคม 2527 จำนวน 500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีครั้งที่ 2 วันที่ 8 มีนาคม 2528 จำนวนเงิน 200,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือน หากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4782 ตำบลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท โดยตกลงให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ จำเลยที่ 1 ได้มอบใบรับเงินฝากประจำ จำนวนเงิน 200,000 บาท และนายเต็กหลี แซ่โล้วได้มอบสมุดเงินฝากประจำจำนวนเงิน 500,000 บาท ให้โจทก์ยึดถือไว้โดยได้ทำหนังสือยินยอมให้โจทก์หักเงินตามใบรับเงินฝากประจำและสมุดเงินฝากประจำ รวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 นับแต่จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงิน จำเลยทั้งสองได้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว ส่วนการเบิกเงินเกินบัญชีนั้นจำเลยที่ 1 ปล่อยให้หนี้เกินวงเงินเบิกเกินบัญชี โจทก์จึงได้นำเงินฝากตามใบรับเงินฝากประจำพร้อมด้วยดอกเบี้ยมาหักทอนบัญชีแล้วมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้เงินกู้บอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินจำนวน 713,680 บาท จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 285,086.85 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน998,766.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินกู้จำนวน 500,000 บาท และต้นเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี จำนวน 234,811.85บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 2ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 713,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเบิกเงินหรือนำเงินเข้าบัญชีแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสิ้นสุดแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2528 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้โจทก์จำนวน 713,680 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์จำนวน 234,811.85 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 50,275 บาท หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินก่อน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อที่สามมีว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกเมื่อใดและเมื่อสัญญาเลิกแล้วโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด เห็นว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดไว้ และปรากฏว่าจำเลยที่ 1นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2528แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา สัญญาดังกล่าวจึงยังคงมีอยู่ต่อมา เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้โจทก์จึงนำเงินตามใบรับเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 และตามสมุดเงินฝากประจำของนายเต็กหลี ที่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันมาหักชำระหนี้แล้วเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2529 เป็นการบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่า โจทก์ได้เลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้จนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2529อันเป็นวันเลิกสัญญาเท่านั้น ซึ่งตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมายจ.13 ณ วันที่ 14 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่จำนวน 228,174.61 บาท หลังจากนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอย่างไม่ทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไปจากยอดเงินที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.7 อันเป็นข้อตกลงที่โจทก์และจำเลยที่ 1ทำกันไว้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ จำนวน 234,811.85 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2529เป็นต้นไปนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ จำนวน 228,174.61 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share