คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5727/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยตกลงยินยอมให้ที่ดินทั้งสองโฉนดของจำเลยเป็นทางสาธารณะนั้น ที่ดินนั้นก็ตกเป็นทางสาธารณะทันที การจดทะเบียนเป็นทางสาธารณะเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการศาลย่อมไม่อาจสั่งบังคับให้จำเลยจดทะเบียนให้ที่ดินเป็นทางสาธารณะได้แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องก็ตาม และศาลก็ไม่อาจบังคับให้เจ้าพนักงานซึ่งมิใช่คู่ความดำเนินการจดทะเบียนที่ดินนั้นให้เป็นทางสาธารณะได้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528จำเลยทำสัญญาให้โจทก์ใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6868 และ 6869 เป็นถนนสาธารณะเดินออกสู่ถนนสาธารณะอื่น ๆ ได้ โดยจำเลยจะไถ่ถอนจำนองจากธนาคารและจดทะเบียนอนุญาตให้โจทก์กับพวกใช้เดินเป็นถนนสาธารณะภายในกำหนด 4 ปี ตามสัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 โจทก์จึงตกลงซื้อที่ดินจากจำเลยตามที่จำเลยแบ่งแยกที่ดิน 2 โฉนดดังกล่าวออกเป็นแปลงเล็ก ๆ รวม 9 แปลง และซื้ออีกหลายแปลงในเวลาต่อมา โจทก์กับพวกได้ใช้ที่ดินของจำเลยเป็นถนนเข้าออกสู่ทางสาธารณะตลอดมา จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2534 จำเลยได้สร้างบ้านบนที่ดินที่จำเลยให้ใช้เป็นถนนนั้น และจำเลยได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินของจำเลยตามที่ตกลงกันแล้วแต่ไม่ได้จดทะเบียนให้เป็นทางสาธารณะตามที่ให้สัญญาไว้ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6868 และ 6869ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ของจำเลยโดยทำเป็นรูปถนนตามเดิมและให้จำเลยจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 6868และ 6869 ดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2528โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยรวม 9 แปลง แต่ละแปลงมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ จำเลยไม่ได้ตกลงจะจดทะเบียนที่ดินโฉนด เลขที่ 6868 และ 6869เป็นทางสาธารณะให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์2533 จำเลยให้คนงานไปขุดหลุมปักหลักบนที่ดินดังกล่าวเพื่อมิให้บุคคลอื่นเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินของจำเลย สัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นสัญญาปลอม จำเลยไม่เคยทำสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์แม้ลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวจะเป็นลายมือชื่อของจำเลย แต่จำเลยก็ไม่ได้อนุญาตให้โจทก์หรือยินยอมให้โจทก์พิมพ์ข้อความในสัญญานั้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6868 และ 6869 ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ของจำเลย โดยทำเป็นรูปถนนตามเดิมและให้จำเลยจดทะเบียนที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวเป็นทางสาธารณะ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6868และ 6869 ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานีเดิมเนื้อที่ 1 ไร่ 15 ตารางวา และ 3 งาน 94 ตารางวา ตามลำดับที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดกัน โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 6868 อยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 6869 ต่อมาจำเลยได้แบ่งแยกที่ดินทั้งสองแปลงออกเป็นแปลงเล็กหลายแปลง แล้วโอนขายให้โจทก์กับพวกรวม 9 แปลง และหลังจากแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงเล็กหลายแปลงแล้วที่ดินโฉนดเลขที่ 6868 และ 6869 ยังเหลือบางส่วนรวมกันแล้วกว้างประมาณ 8 เมตร ยาวประมาณ 74 เมตร ตามบริเวณพื้นที่สีแดงในเอกสารหมาย จ.3 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้ตกลงทำสัญญากับโจทก์ยอมให้ผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6868 และ 6869 ส่วนที่เหลือนี้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามเอกสารหมาย จ.4 หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ นายเมธี อนุดิษต์นายประพัฒน์ เลาหวรรณธนะ นายสุรชัย เอี่ยมพิบูลย์วัฒนา และนายพิพัฒน์ สัมพันธ์อภัย เป็นพยานเบิกความมีใจความว่า จำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6868 และ 6869 ของจำเลยออกเป็นแปลงเล็กหลายแปลงขายให้แก่โจทก์กับพวก โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยจะต้องยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6868 และ 6869 ตามบริเวณพื้นที่สีแดงในเอกสารหมาย จ.3เป็นทางสาธารณประโยชน์ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528 จำเลยตกลงทำสัญญายินยอมให้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์ ในการทำสัญญานายสุรชัยน้องชายโจทก์เป็นผู้นำรายละเอียดที่จะระบุไว้ในสัญญาจากโจทก์และจำเลยไปให้นายพิพัฒน์เป็นคนร่างและพิมพ์สัญญาโดยนายเมธีกับนายประพัฒน์ลงชื่อเป็นพยานรู้เห็นในการทำสัญญาด้วยตามเอกสารหมาย จ.4 พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความสอดคล้องกันโดยมีเอกสารหมาย จ.4 อ้างสนับสนุนจึงควรแก่การรับฟัง จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่เคยทำสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ให้แก่โจทก์ โดยอ้างว่าแม้ลายมือชื่อในสัญญาจะเป็นลายมือชื่อของจำเลย แต่จำเลยก็ไม่ได้ยินยอมให้โจทก์พิมพ์ข้อความที่ปรากฏในสัญญาลงในสัญญา ในชั้นพิจารณาจำเลยนำสืบปฏิเสธลอย ๆ ว่าไม่ได้ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.4ส่วนลายมือชื่อผู้ให้สัญญาในสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยในข้อที่จำเลยนำสืบว่าลายมือชื่อผู้ให้สัญญาในเอกสารหมายจ.4 ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงปรากฏด้วยว่าที่ดินที่จำเลยแบ่งแยกออกขายให้แก่โจทก์กับพวกอยู่ติดกับที่โฉนดเลขที่ 6868 และ 6869 ส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกตามบริเวณพื้นที่สีแดงในเอกสารหมาย จ.3 เกือบทุกแปลงที่ดินพื้นที่สีแดงในเอกสารหมาย จ.3 มีความกว้างเพียงประมาณ8 เมตร ยาวประมาณ 74 เมตร ด้านทิศเหนือและทิศใต้ติดทางสาธารณประโยชน์ เห็นได้ว่า จำเลยแบ่งแยกเตรียมไว้ทำเป็นทางเข้าออกที่ดินที่ถูกแบ่งแยกออกเป็นแปลงเล็กหลายแปลงดังกล่าวเป็นการจูงใจให้โจทก์กับพวกและผู้ซื้อรายอื่นตัดสินใจซื้อที่ดินที่จำเลยแบ่งแยกขาย และขายที่ดินที่แบ่งแยกออกไปได้ในราคาสูง อันเป็นเหตุผลที่จำเลยจะตกลงทำสัญญาเอกสารหมาย จ.4 กับโจทก์ พยานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย ฟังได้ว่า จำเลยได้ตกลงทำสัญญาเอกสารหมาย จ.4กับโจทก์จริง จำเลยจึงต้องถูกผูกพันที่จะปฏิบัติตามสัญญา ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวนั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวเป็นทางสาธารณะและศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืนนั้น เห็นว่า การที่จำเลยตกลงยอมให้ที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวเป็นทางสาธารณะ ที่ดินนั้นก็ตกเป็นทางสาธารณะทันทีการจดทะเบียนเป็นทางสาธารณะเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการ ศาลย่อมไม่อาจสั่งบังคับให้เจ้าพนักงานซึ่งมิใช่คู่ความดำเนินการจดทะเบียนที่ดินนั้นให้เป็นทางสาธารณะได้เช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยจดทะเบียนที่ดินทั้งสองโฉนดเป็นทางสาธารณะเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share