คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5427/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องโดยบรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาสรุปได้ว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าประเภทนาฬิกาเข้ามาในราชอาณาจักร และจำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้า อากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลไว้ในเอกสารดังกล่าวตามเอกสารท้ายฟ้องโดยได้ระบุถึงประเภทของสินค้าที่นำเข้าและจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระด้วยแล้ว ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าต่ำกว่าราคาแท้จริงของสินค้าที่จำเลยซื้อมาและต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาด เป็นเหตุให้การชำระภาษีอากรไม่ครบถ้วนจึงประเมินราคาสินค้าใหม่และให้จำเลยเสียภาษีอากรเพิ่มเติมแต่จำเลยไม่ชำระ จึงฟ้องคดีขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีอากรดังกล่าวฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วจึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ส่วนโจทก์ที่ 1 ทราบราคาสินค้าที่แท้จริงที่จำเลยซื้อมาได้อย่างไร และในท้องตลาดที่ใด ราคาเท่าใดเปรียบเทียบราคาดังกล่าวจากเอกสารอะไรนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา หาจำต้องบรรยายมาในคำฟ้องไม่ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ต้นฉบับเอกสารอยู่ที่ศุลกากรเมืองฮ่องกง เป็นกรณีที่ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น และเท่ากับศาลภาษีอากรกลางได้อนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบได้แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) แม้จะเป็นภาพถ่ายสำเนาเอกสารที่ไม่มีผู้ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องก็ตามก็รับฟังเอกสารดังกล่าวได้ ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนในเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ได้ภายในกำหนด 5 ปี พ้นกำหนดนี้แล้วจะมีผลเพียงเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนและออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้เท่านั้น หาใช่เป็นบทบัญญัติเรื่องอายุความในการเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากรไม่ สิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม(มาตรา 193/31 ที่แก้ไขใหม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 621,885.05 บาทพร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 143,553.74 บาท เป็นรายเดือนนับแต่วันที่25 พฤศจิกายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า การประเมินของโจทก์ที่ 1 ไม่ชอบทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ดังนั้นโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะยึดเงินประกันจำนวนดังกล่าวโจทก์ที่ 1 ต้องคืนเงินประกันดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์และเพิกถอนการประเมินทั้งหมดของโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินประกัน เป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันวางเงินประกันจนถึงวันยื่นฟ้องแย้งนี้คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 37,500 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระให้แก่จำเลยทั้งสิ้น 77,500 บาท ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันรับผิดในดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 40,000 บาท นับแต่วันยื่นฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระเงินคืนให้แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1ได้ประเมินภาษีอากรซึ่งจำเลยต้องชำระเพิ่มชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน621,885.05 บาท แก่โจทก์ กับให้ชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 143,553.74บาท เป็นรายเดือนนับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์แล้วเสร็จ และยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้อง คำให้การและข้อที่นำสืบตรงกันว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบการค้า สั่งซื้อและนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2521 จำเลยได้นำเข้าสินค้านาฬิกาแขวนนาฬิกาปลุก และอะไหล่นาฬิกายี่ห้ออิควิตี้ (EQUITY) เข้ามาในราชอาณาจักร รวม 48 ใบขนเฉพาะคดีนี้เกี่ยวกับใบขนสินค้า 1 ใบขนตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า ใบกำกับสินค้าและใบรายการบรรจุหีบห่อ เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1-6 โดยนำเข้าจากเมืองฮ่องกง จำเลยได้สำแดงราคาไว้ในใบขนสินค้า พร้อมกับได้วางเงินประกันและชำระภาษีอากรตามที่สำแดงไว้แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไป ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ได้นำเอาราคาที่สำแดงไว้เปรียบเทียบกับราคาในบัญชีราคาสินค้าและใบขนสินค้าขาออกที่ได้จากรองกงสุลใหญ่ฝ่ายศุลกากรประจำเมืองฮ่องกง ปรากฏว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ต่ำไป พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการประเมินใหม่แล้วแจ้งให้จำเลยนำเงินภาษีอากรส่วนที่ขาดมาชำระโดยได้หักกับจำนวนเงินที่จำเลยวางประกันไว้แล้วตามแบบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 21จำเลยได้อุทธรณ์การประเมิน แต่ผลการพิจารณาอุทธรณ์ยืนตามราคาประเมินเดิม ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 33-37 คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยคือ (1) ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 หรือไม่ (2) จำเลยต้องรับผิดชำระภาษีอากรพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามฟ้องหรือไม่ และ(3) โจทก์จะต้องคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแย้งให้จำเลยหรือไม่ สำหรับปัญหาข้อ (1) ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาสรุปได้ว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าประเภทนาฬิกาเข้ามาในราชอาณาจักรและจำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1โดยจำเลยสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้า อากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้ในเอกสารดังกล่าวตามเอกสารท้ายฟ้องโดยได้ระบุถึงประเภทของสินค้าที่นำเข้าและจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระด้วยแล้วซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าต่ำกว่าราคาแท้จริงของสินค้าที่จำเลยซื้อมาและต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดเป็นเหตุให้การชำระภาษีอากรไม่ครบถ้วน จึงประเมินราคาสินค้าใหม่และให้จำเลยเสียภาษีอากรเพิ่มเติม แต่จำเลยไม่ชำระ จึงฟ้องคดีขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีอากรดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายในฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ทราบราคาสินค้าที่แท้จริงที่จำเลยซื้อมาได้อย่างไร และในท้องตลาดที่ใด ราคาเท่าใด ทั้งไม่บรรยายรายละเอียดว่าเปรียบเทียบราคาดังกล่าวจากเอกสารอะไร ทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องนั้น เห็นว่า รายละเอียดดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง ที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา หาจำต้องบรรยายมาในคำฟ้องไม่ ทั้งคำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายถึงข้อหาและข้อเท็จจริงที่จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อ (2) มีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระภาษีอากรพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายวรชัย ศิริสุทธิกุลรองกงสุลใหญ่ฝ่ายศุลกากร ประจำเมืองฮ่องกงขณะนั้นเบิกความเป็นพยานในคดีนี้และคดีหมายเลขดำที่ 28/2532 ของศาลภาษีอากรกลางว่าทางกองประเมินอากรได้มีหนังสือแจ้งให้พยานสอบถามราคาขายส่งของนาฬิกายี่ห้ออีควิตี้ ซึ่งบริษัทเจี๊ยบฮั้วหรือเชียบฮั้วจำกัด เป็นผู้ส่งออก พยานสืบหาบัญชีราคาสินค้าของบริษัทเชียบฮั้วจำกัด ในเมืองฮ่องกง ได้แล้วได้จัดส่งให้กองประเมินอากรตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 2-7 ต่อมากองวิเคราะห์ราคาได้มีหนังสือขอให้สืบหาราคาส่งออกอันแท้จริงจากเมืองฮ่องกงเกี่ยวกับนาฬิกายี่ห้ออีควิตี้แบบต่าง ๆ และได้ส่งใบกำกับสินค้ามาให้ด้วยพยานได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกงขอให้ช่วยตรวจสอบราคาส่งออกจากเมืองฮ่องกง ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกงได้สรุปรายละเอียดแต่ละเที่ยวเรือ และเปรียบเทียบราคาตามใบกำกับสินค้ากับราคาที่บริษัทเชียบฮั้ว จำกัด เป็นผู้ส่งออกและขายให้แก่จำเลยในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกงได้ให้ความร่วมมือส่งสำเนาใบขนสินค้าขาออกดังกล่าวมาให้รวมทั้งหมด46 ใบขน ซึ่งตรงกับใบขนสินค้าจำนวน 48 ใบขนที่เกี่ยวกับคดีนี้จำนวน 1 ใบขน ซึ่งรวมอยู่ในจำนวน 48 ใบขนดังกล่าว ปรากฏตามใบขนสินค้าขาออกเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 8 ซึ่งตรงกับใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 6 เอกสารดังกล่าวพยานได้ทำหนังสือราชการนำส่งโจทก์ที่ 1 นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายจำนงค์ ดิษเทศ ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคาเบิกความเป็นพยานคดีนี้และคดีหมายเลขดำที่ 28/2532ของศาลภาษีอากรกลางว่า ได้นำราคาสินค้าที่สำแดงในใบขนสินค้าเปรียบเทียบกับราคาในบัญชีราคาสินค้า และราคาในใบขนสินค้าขาออกที่รองกงสุลใหญ่ฝ่ายศุลกากรประจำเมืองฮ่องกงส่งมาให้ โดยทำตารางเปรียบเทียบไว้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 60-61 ในตารางเปรียบเทียบจะแยกราคาแต่ละแบบของนาฬิกาไว้ด้วย จากการเปรียบเทียบพบว่าราคาที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าต่ำกว่าราคาที่ระบุไว้ในบัญชีราคาสินค้า และราคาที่ระบุในบัญชีราคาสินค้าจะสูงกว่าราคาที่บริษัทผู้ส่งออกสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออก เฉลี่ยประมาณ 18.12เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอัตราความแตกต่างนั้นอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้เพราะธรรมเนียมการค้านั้นราคาตามบัญชีราคาสินค้าเป็นราคาที่เสนอขายทั่วไป แต่ถ้าหากเป็นการเสนอขายจำนวนมากจะมีการลดราคาให้10-20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นราคาอันแท้จริงน่าจะถือตามที่ผู้ส่งออกได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกยิ่งไปกว่านั้นนายจำลอง เสตถาภิรมย์สารวัตรศุลกากร 5 ผู้เข้าตรวจค้นบริษัทจำเลยเบิกความว่า ผลการตรวจค้นพบกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าที่นำเข้าหลายฉบับ สำหรับคดีนี้ตรงกับกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 ราคาสินค้าที่ระบุในกรมธรรม์สูงกว่าราคาที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าแต่จะใกล้เคียงกับราคาตามบัญชีราคาสินค้าของบริษัทผู้ขาย ซึ่งจำเลยก็หาได้นำสืบโต้แย้งว่า ผู้ขายสินค้าให้จำเลยไม่ได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกงและมิได้นำสืบหักล้างว่าบัญชีราคาสินค้าที่โจทก์นำสืบไม่ใช่บัญชีราคาสินค้าของบริษัทเชียบฮั้ว จำกัด ทั้งกรณีที่จำนวนเงินที่เอาประกันภัยสูงกว่าราคาที่สำแดงก็เพียงแต่อ้างว่าเป็นความผิดพลาดของพนักงานบริษัทเชียบฮั้ว จำกัด อันเนื่องจากความพลั้งเผลอซึ่งไม่มีเหตุผลให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย คดีรับฟังได้ว่า ราคาสินค้าที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาออกเป็นราคาสินค้าที่บริษัทผู้ขายขายให้จำเลยอันเป็นราคาที่แท้จริงในท้องตลาด ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เอกสารสำเนาใบขนสินค้าขาออกที่ผู้ส่งออกยื่นต่อศุลกากรเมืองฮ่องกงเป็นเอกสารของทางราชการ ไม่มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกงรับรองความถูกต้อง และไม่ได้มาเบิกความยืนยันรับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว จำเลยได้ปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร ดังนั้นจึงใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาเอกสารที่พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าถ่ายจากต้นฉบับเป็นเอกสารของทางราชการเมืองฮ่องกง เรียกว่า “EXPORT/RE-EXPORTDECLARATIONFORM 2” ซึ่งผู้ส่งสินค้าออกยื่นเอกสารดังกล่าวแจ้งการส่งออกต่อทางราชการเมืองฮ่องกง เอกสารนี้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับประเภทและชนิดของสินค้าที่ส่งออก วันที่ส่งออก ราคาสินค้านายวรชัยเป็นผู้ไปติดต่อขอรับเอกสารดังกล่าวมาจากทางราชการเมืองฮ่องกง โดยนายวรชัยเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกงได้ให้ความร่วมมือในการถ่ายเอกสารให้ มีรายการสินค้าตรงกับใบขนสินค้าที่กองวิเคราะห์ราคาส่งมาให้ จะต่างกันเฉพาะราคาของสินค้าโดยราคาที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวจะสูงกว่าราคาตามใบขนสินค้าเห็นได้ว่าตามสำเนาเอกสารของทางราชการเมืองฮ่องกงนี้บริษัทเชียบฮั้ว จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าให้จำเลยเป็นผู้รายงานการขายสินค้าดังกล่าวให้ทางราชการเมืองฮ่องกงเอง เพราะมีรายการทุกอย่างตรงกัน ยกเว้นเรื่องราคาเท่านั้นที่ผู้ขายแจ้งต่อทางราชการเมืองฮ่องกงสูงกว่าราคาที่ปรากฏในใบขนสินค้าของจำเลย ตามคำเบิกความของนายวรชัยก็ได้ความว่า ตามกฎหมายเมืองฮ่องกงผู้ส่งออกจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการส่งออกตามมูลค่าของสินค้าที่ส่งออก ดังนั้นผู้ส่งออกต้องแสดงราคาสินค้าให้ถูกต้องกับความเป็นจริง มิฉะนั้นมีความผิดตามกฎหมายจึงเชื่อได้ว่ารายงานตามใบขนสินค้าขาออกดังกล่าวตรงกับความเป็นจริง เพราะหากผู้ขายสินค้าให้จำเลยขายในราคาที่ต่ำกว่าตามที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาออกก็ไม่มีเหตุที่ผู้ขายจะรายงานการขายให้สูงขึ้น อันจะต้องทำให้เสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ และนายวรชัยพยานโจทก์เป็นผู้ไปพบต้นฉบับด้วยตนเองซึ่งต้นฉบับอยู่ที่ศุลกากรเมืองฮ่องกง นายวรชัยได้รับเอาสำเนาเอกสารดังกล่าวมาตามที่ได้รับมอบหมายจากกองวิเคราะห์ราคาของโจทก์ที่ 1 แล้วนายวรชัยได้รายงานข้อมูลดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1ทราบตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 55 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งและนำสืบหักล้างคำเบิกความของนายวรชัยว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง ข้อนำสืบของโจทก์ตามคำเบิกความของนายวรชัยประกอบเอกสารดังกล่าวจึงน่าเชื่อถือทั้งเป็นกรณีที่ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น และเท่ากับศาลภาษีอากรกลางได้อนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบได้แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) แม้จะเป็นภาพถ่ายสำเนาเอกสารที่ไม่มีผู้ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องก็ตามก็รับฟังเอกสารดังกล่าวประกอบพยานบุคคลดังได้วินิจฉัยมาแล้วได้ จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า เมื่อจำเลยตกลงซื้อสินค้ารายพิพาทมาแล้วได้มีการชำระราคาตามใบขนสินค้าพิพาทผ่านทางธนาคารไปยังผู้ขายที่เมืองฮ่องกงจำนวนเงินจะตรงกับราคาในใบกำกับสินค้านั้น เห็นว่า การชำระราคาอาจกระทำได้หลายทาง ผู้ซื้อสินค้าอาจชำระราคาที่นอกเหนือจากนั้นโดยวิธีอื่นก็ได้ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า หากคิดราคานาฬิกาที่นำเข้ารายพิพาทซึ่งเป็นนาฬิกาแบบ 608 ตามราคาที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้าซึ่งเป็นราคา เอฟ.โอ.บี. เมื่อคิดเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. และรวมค่าภาษีอากรค่ากำไรมาตรฐานและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าโฆษณาแล้วราคาจะสูงกว่าราคาที่จำเลยขายในประเทศไทยมากนั้น เห็นว่า ตามที่โจทก์นำสืบราคาที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้าจะสูงกว่าราคาตามใบขนสินค้าขาออกของผู้ขายที่ขายให้จำเลยประมาณ 18.12 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นการเสนอขายทั่วไป แต่ราคาที่แท้จริงที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินคือราคาตามใบขนสินค้าขาออก ราคาจึงต่ำกว่าที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะสูงมากดังเช่นที่จำเลยอ้างหรือไม่ ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของจำเลยว่าเป็นเช่นนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่าราคาต้นทุนของสินค้าและค่าใช้จ่ายจะเป็นไปดังที่จำเลยอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วเพราะโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ซึ่งต้องหมายเรียกไต่สวนภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการนั้นเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนในเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ได้ภายในกำหนด 5 ปี พ้นกำหนดนี้แล้วจะมีผลเพียงเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนและออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้เท่านั้น หาใช่เป็นบทบัญญัติเรื่องอายุความในการเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากรไม่ สิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม (มาตรา 193/31ที่แก้ไขใหม่) ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ชอบแล้วและคดีไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้อ (3)ต่อไปแต่อย่างใด ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรพร้อมกับเงินเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสองและยกฟ้องแย้งของจำเลยจึงชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share