แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แพทย์ผู้เคยตรวจรักษาผู้ตายซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเห็นว่าผู้ตายมีอาการชักซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ อาการชักนี้อาจจะมิใช่เกิดจากโรคลมชักหรือลมบ้าหมูเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ ต้องพิสูจน์ด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ซึ่งโรงพยาบาลที่แพทย์ประจำอยู่ไม่มีดังนี้ แพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ตายก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ว่าอาการชักของผู้ตายเกิดจากโรคลมชักหรือลมบ้าหมูหรือไม่และไม่ได้ยืนยันว่าอาการชักดังกล่าวเป็นโรคที่ร้ายแรง นอกจากนั้นยังปรากฏว่าผู้ตายเคยมีอาการชักมาเมื่อ 10 ปีที่แล้วก่อนที่จะให้แพทย์ดังกล่าวตรวจรักษาในครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทำงานไม่ได้เช่นคนปกติทั่วไปทั้งเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายก็เป็นเพราะผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายมีโรคประจำตัวที่ร้ายแรง การที่ผู้ตายมิได้แจ้งให้จำเลยผู้รับประกันภัยทราบในขณะทำสัญญาประกันชีวิตถึงอาการชักดังกล่าวจึงมิใช่กรณีที่ผู้ตายผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงที่อาจจะได้จูงใจจำเลยผู้รับประกันภัยให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา อันจะทำให้สัญญานั้นตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคแรกเมื่อสัญญาดังกล่าวมิได้ตกเป็นโมฆียะ จำเลยย่อมไม่อาจบอกล้างสัญญานั้น สัญญาประกันชีวิตตามฟ้องจึงหาตกเป็นโมฆะไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายบุญทักษ์ แก้วบุดดี ได้เอาประกันชีวิตไว้แก่จำเลยระยะเวลาประกันภัย 20 ปี จำนวนเงินเอาประกันภัย 23,830 บาทผู้รับประโยชน์คือ โจทก์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2530 นายบุญทักษ์ได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยต้องรับผิดตามกรมธรรม์ในจำนวนเงินเอาประกันชีวิต 23,830 บาท และเงินทดแทนเพิ่มเติม 2 เท่า ของจำนวนเงินเอาประกันภัยเป็นจำนวนเงิน 47,660 บาท จำเลยต้องรับผิดจ่ายเงินประกันชีวิตและเงินทดแทนการเสียชีวิตให้แก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ทั้งสิ้นจำนวน 71,490 บาท โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินจำนวนดังกล่าวต่อจำเลย แต่จำเลยได้ปฏิเสธการจ่ายเงินและบอกล้างสัญญาประกันชีวิต โดยให้เหตุผลว่า นายบุญทักษ์ผู้เอาประกันภัยมีสุขภาพไม่สมบูรณ์มาก่อนทำสัญญาประกันชีวิตโดยป่วยเป็นโรคลมชักแต่นายบุญทักษ์มิได้แจ้งความจริงในเรื่องสุขภาพให้จำเลยทราบในคำขอเอาประกันชีวิต การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 72,695 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 71,490 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญา เพราะภายหลังที่นายบุญทักษ์ได้ถึงแก่ความตาย จำเลยได้ตรวจสอบพบว่านายบุญทักษ์รู้อยู่แล้วว่าตนมีสุขภาพไม่สมบูรณ์โดยได้ป่วยเป็นโรคลมชักมาก่อนขอเอาประกัน และขณะขอเอาประกันชีวิตนายบุญทักษ์ได้ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงและแถลงข้อความเท็จในคำขอเอาประกันชีวิตว่าตนเองมีสุขภาพสมบูรณ์ ในระหว่าง 2 ปีที่แล้วตนไม่เคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลตรวจโลหิต ความดันโลหิตปัสสาวะ เอกซ์เรย์ ตรวจหัวใจ หรือตรวจอย่างอื่น จำเลยหลงเชื่อว่าเป็นจริงตามที่นายบุญทักษ์ได้แถลงในคำขอเอาประกันชีวิต จึงได้ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตนายบุญทักษ์ไว้ ซึ่งหากจำเลยทราบความจริงในขณะขอเอาประกันชีวิตว่านายบุญทักษ์มีสุขภาพไม่สมบูรณ์โดยป่วยเป็นโรคลมชักมาก่อนแล้ว จำเลยจะไม่รับประกันชีวิตนายบุญทักษ์ไว้เป็นอันขาด การปกปิดข้อความจริงและแถลงข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว เป็นข้อสาระสำคัญในการทำสัญญาประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตฉบับดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยทราบความจริงเกี่ยวกับสุขภาพและความเจ็บป่วยของนายบุญทักษ์เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2530จำเลยได้มีหนังสือบอกล้างสัญญาไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน2530 สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นจำเลยจึงไม่มีหน้าที่จะต้องชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 71,490 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2530จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (26 มกราคม2531) ไม่เกิน 1,205 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่านายบุญทักษ์ แก้วบุดดี ได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลยแบบสินสมบูรณ์ มีกำหนดระยะเวลาประกัน 20 ปี โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตเอกสารหมาย จ.3 ต่อมานายบุญทักษ์ได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำในระหว่างอายุสัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์ดังกล่าว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่าสัญญาประกันชีวิตตามฟ้องเป็นโมฆะหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยมีแพทย์หญิงศิรินันท์ นันทวิจิตร เบิกความว่า นายบุญทักษ์เคยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลชัยภูมิเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2529 มีอาการชักซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ อาการชักนี้อาจจะมิใช่เกิดจากโรคลมชักหรือลมบ้าหมู เกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ ต้องพิสูจน์ด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ซึ่งโรงพยาบาลชัยภูมิไม่มี เห็นว่า แพทย์หญิงศิรินันท์ผู้ตรวจรักษาผู้ตายก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ว่าอาการชักของผู้ตายเกิดจากโรคลมชักหรือลมบ้าหมูหรือไม่ และไม่ได้ยืนยันว่าอาการชักดังกล่าวเป็นโรคที่ร้ายแรง นอกจากนั้นยังปรากฏตามคำเบิกความของแพทย์หญิงศิรินันท์อีกว่าผู้ตายเคยมีอาการชักมาเมื่อ10 ปีที่แล้วก่อนที่จะให้พยานตรวจรักษาในครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทำงานไม่ได้เช่นคนปกติทั่วไป ทั้งเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายก็เป็นเพราะผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำ ดังนี้ ยังฟังไม่ได้ว่าผู้ตายมีโรคประจำตัวที่ร้ายแรง การที่ผู้ตายมิได้แจ้งให้จำเลยทราบในขณะทำสัญญาประกันชีวิตถึงอาการชักดังกล่าว จึงมิใช่กรณีที่ผู้ตายผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงที่อาจจะได้จูงใจจำเลยผู้รับประกันภัยให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญาอันจะทำให้สัญญานั้นตกเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 วรรคแรก เมื่อสัญญาดังกล่าวมิได้ตกเป็นโมฆียะ จำเลยย่อมไม่อาจบอกล้างสัญญานั้น สัญญาประกันชีวิตตามฟ้องจึงหาตกเป็นโมฆะไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เอาประกันภัยได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำโดยผู้เอาประกันภัยไม่ได้ทำผิดตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันชีวิตแต่อย่างใด จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายเงินตามกรมธรรม์เป็นเงินรวม 71,490 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น