แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ก่อนตายผู้ตายจะมีรายได้จากการขับรถยนต์สองแถวรับจ้างนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัวโจทก์ก็ตาม แต่ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายมีอายุเพียง 19 ปี ซึ่งตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42บัญญัติว่าผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถ และมาตรา 49(2)บัญญัติว่า ผู้ขอใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า25 ปี บริบูรณ์ ผู้ตายจึงต้องห้ามมิให้ขับรถยนต์สองแถวรับจ้างซึ่งจัดเป็นรถยนต์สาธารณะตามกฎหมายดังกล่าว การขับรถยนต์สองแถวรับจ้างของผู้ตายถือไม่ได้ว่าเป็นการทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(3)โจทก์ผู้เป็นมารดาไม่มีสิทธิใช้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรให้ทำงานดังกล่าวฉะนั้น รายได้จากการขับรถยนต์สองแถวรับจ้างจึงมิใช่รายได้ที่เกิดจากการที่ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในครัวเรือนดังความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจีระศักดิ์ ผู้ตาย จำเลยได้ใช้อาวุธปืนลูกซองยาวยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 543,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 506,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน295,950 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนคำขออื่นให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน210,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2528 นายจีระศักดิ์ จันทร์เกษมผู้ตายกับพวกได้ปรับความเข้าใจกับจำเลยในกรณีผู้ตายพานางสาวสรัญญาฤทธิ์งาม บุตรสาวของจำเลยไปอยู่กินฉันสามีภรรยากันที่จังหวัดลำปางโดยไม่ได้บอกกล่าวจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยโกรธ จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาฆ่าผู้ตายโดยเจตนา คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด20 ปี
ส่วนที่โจทก์ฎีกาเรียกร้องค่าขาดแรงงานในครัวเรือนที่ผู้ตายมีต่อโจทก์มาด้วยเป็นเงิน 240,000 บาท นั้น เห็นว่า แม้ก่อนตายผู้ตายจะมีรายได้จากการขับรถยนต์สองแถวรับจ้างนำรายได้ดังกล่าวมาเลี้ยงครอบครัวของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงว่าขณะถึงแก่ความตายผู้ตายมีอายุ 19 ปี ซึ่งตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 42 บัญญัติว่า ผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถและมาตรา 49(2)บัญญัติไว้ความว่า ผู้ขอใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะตามมาตรา 43(4)ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี บริบูรณ์ ดังนั้น ผู้ตายจึงต้องห้ามมิให้ขับรถยนต์สองแถวรับจ้างซึ่งจัดเป็นรถยนต์สาธารณะตามกฎหมายดังกล่าวการขับรถยนต์สองแถวรับจ้างของผู้ตายถือไม่ได้ว่าเป็นการทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(3) โจทก์ไม่มีสิทธิใช้ให้ผู้ตายทำงานดังกล่าว ฉะนั้น รายได้จากการขับรถยนต์สองแถวรับจ้างที่ผู้ตายได้รับจึงมิใช่รายได้ที่เกิดจากการที่ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในครัวเรือนดังความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 445 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่โจทก์กล่าวในฎีกา โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้ คำพิพากษาฎีกาทั้งสองเรื่องที่โจทก์อ้างอิงในฎีกานำมาปรับกับคดีนี้ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และของจำเลยทุกประเด็นฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน