คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4907/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งได้ให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 เช่าทำนา ต่อมาโจทก์เรียกค่าเช่านาเพิ่ม โดยได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล แต่โจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าว โจทก์จึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด จำเลยที่ 1แต่จำเลยที่ 1 มีมติยืนตาม จึงขอให้เพิกถอนมติของจำเลยที่ 1 และบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระค่าเช่านาที่เพิ่ม ดังนี้เมื่อพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 บัญญัติแต่เพียงว่าคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล(คชก.ตำบล) ก็ดี คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด(คชก. จังหวัด) ก็ดี ประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง แต่หาได้มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการดังกล่าวมีสภาพเป็นนิติบุคคล หรือเป็นบุคคลธรรมดาแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในฐานะที่ถูกฟ้องร้องได้ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และการที่จะขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระค่าเช่าที่นาเพิ่มได้ก็ต่อเมื่อมีการเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดก่อน เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ชำระค่าเช่านาที่เพิ่มได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 488 และได้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เช่าทำนาเป็นส่วน ๆ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต่างใช้ที่ดินทำนาปรังนอกเหนือจากการทำนาปีตามฤดูกาลปกติอีกครั้งหนึ่ง โจทก์จึงเรียกค่าเช่านาเพิ่ม โดยได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางขวัญ คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาและมีมติให้โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บค่าเช่านาสำหรับการทำนาปรังได้แต่เมื่อรวมกับค่าเช่านาสำหรับการทำนาปีตามปกติแล้วต้องไม่เกินอัตราไร่ละ 8 ถังต่อปี โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1ได้พิจารณาและลงมติยืนตามมติของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางขวัญ โจทก์จึงต้องอุทธรณ์ต่อศาล ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนมติของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว และบังคับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าเช่านาสำหรับการทำนาปรังแก่โจทก์ในอัตราไร่ละ 8 ถังต่อปี เพิ่มขึ้นจากค่าเช่านาสำหรับการทำนาปีตามปกติ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การเป็นทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 ได้วินิจฉัยและมีมติยืนตามมติของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางขวัญโดยชอบทุกประการเพราะตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ผู้เช่านาแต่ละรายตกลงอัตราค่าเช่ากันไร่ละ 8 ถังต่อปี ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าขั้นสูงตามที่คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางขวัญได้ประกาศกำหนดไว้ตามกฎหมายแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่านาได้สูงกว่านี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้กลับคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าเช่านาสำหรับการทำนาปรังให้แก่โจทก์เป็นข้าวเปลือกตามพื้นที่นาที่เช่าอัตราไร่ละ 8 ถังต่อปีต่างหากจากค่าเช่านาสำหรับการทำนาปี ถ้าต่อไปคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลบางขวัญ กำหนดอัตราค่าเช่านาปรังขั้นสูงต่ำกว่านี้ ก็ให้คิดค่าเช่านาไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลบางขวัญกำหนด
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 แต่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเพียงบัญญัติว่าคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก. ตำบล)ก็ดี คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด(คชก.จังหวัด) ก็ดี ประกอบด้วยบุคคลใดบ้างไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการดังกล่าวมีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือเป็นบุคคลธรรมดาแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาอันจะอยู่ในฐานะที่ถูกฟ้องร้องได้ ทั้งฟ้องโจทก์ก็แปลความไม่ได้ว่า โจทก์ฟ้องตัวบุคคลที่ประกอบเป็นคณะกรรมการเพราะโจทก์มิได้ระบุชื่อเป็นรายบุคคล โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ได้ แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนี้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาแต่ก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และการที่จะขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ชำระค่าเช่าที่นาเพิ่มได้ก็ต่อเมื่อมีการเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดฉะเชิงเทราก่อน เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยในคดีนี้เสียแล้วโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share