คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4816/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นการฟ้องบุพการีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562 ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุเฉพาะตัวระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วยไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ปัญหาเรื่องโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ จึงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ไม่อาจยกเรื่องห้ามฟ้องจำเลยที่ 1 มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ย่อมเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการจัดการมรดก มีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรมและจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม และเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกแต่กลับโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัว จึงเป็นการทำนิติกรรมให้ตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกอันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722การโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นกองมรดกของ ห.อยู่ตามเดิม ส่วนบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมตกได้แก่โจทก์ทั้งสาม ไม่ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ได้รับซื้อฝากที่ดินพิพาทพร้อมบ้านไว้จากจำเลยที่ 1ย่อมไม่เกิดผลให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามนิติกรรมขายฝาก ทั้งเป็นการกระทำที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินพิพาทพร้อมบ้านคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ เพราะเป็นการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และจะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า นายหล่ำหรือหร่ำได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของตนตามโฉนดเลขที่ 4281 ให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์ทั้งสามจะขอรับทรัพย์มรดกได้ต่อเมื่ออายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2517 นายหล่ำถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสามได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา เมื่อประมาณต้นปี 2529 โจทก์ทั้งสามได้ร่วมกันปลูกบ้านเลขที่ 72 ขึ้นใหม่ในที่ดินโฉนดดังกล่าวเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยในกลางปี 2530 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของนายหล่ำและเป็นบิดาโจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายหล่ำ อ้างว่านายหล่ำมิได้ทำพินัยกรรมไว้ อันเป็นเท็จทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความเท็จต่อศาลว่านายหล่ำมิได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินมรดกให้แก่ผู้ใด ทำให้ศาลหลงเชื่อและมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายหล่ำ เมื่อได้รับตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 หาได้จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของนายหล่ำไม่ กลับดำเนินการโอนที่ดินมรดกให้แก่ตนในฐานะส่วนตัวโดยไม่สุจริต ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2530 จำเลยที่ 1ทำสัญญาขายฝากที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ทราบดีว่านายหล่ำได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังดังกล่าวกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหายไม่สามารถรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ 25 ปี โจทก์ทั้งสามทราบการกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2531 ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนจำเลยที่ 1ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก พิพากษาทำลายนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4281 ให้แก่จำเลยที่ 1 และพิพากษาทำลายนิติกรรมการขายฝากที่ดินดังกล่าว พร้อมบ้านเลขที่ 72 ระหว่างจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสาม กับแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการจัดการแก้ไขทะเบียนที่ดินดังกล่าวให้ถูกต้อง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า พินัยกรรมที่โจทก์ทั้งสามอ้างเป็นพินัยกรรมปลอม จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายหล่ำโดยสุจริต ไม่ทราบว่านายหล่ำทำพินัยกรรมไว้นับแต่นายหล่ำถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว บ้านเลขที่ 72 ในที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นบ้านของนายหล่ำจำเลยที่ 1 โดยทำการปรับปรุงซ่อมแซมขึ้นใหม่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และโจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งถอดถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุพการีของโจทก์ทั้งสามโจทก์ทั้งสามฟ้องบุพการีของตนไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่นายหล่ำถึงแก่กรรม และมิได้ฟ้องคดีเรียกร้องตามข้อกำหนดพินัยกรรมภายใน 1 ปี นับแต่รู้ว่าตนมีสิทธิตามพินัยกรรม ทั้งมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกภายใน 10 ปี นับแต่นายหล่ำถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2รับซื้อฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ทั้งได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายหล่ำหรือหร่ำ รองแรงบุญ ผู้ตาย ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4281 ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว และให้เพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้เถียงกันเป็นอันฟังได้ว่านายหล่ำหรือหร่ำ รองแรงบุญ เป็นบิดาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นบิดาของโจทก์ทั้งสาม นายหล่ำได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4281 ตำบลบางเพรียงอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละเท่า ๆ กัน โดยโจทก์ทั้งสามจะขอรับที่ดินดังกล่าวได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์แล้ว ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.2ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2517 นายหล่ำถึงแก่กรรม ครั้นปี2530 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายหล่ำอ้างว่านายหล่ำมิได้ทำพินัยกรรมไว้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายหล่ำตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1005/2530 ของศาลชั้นต้นหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายหล่ำได้รับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายหล่ำมา แล้วจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายหล่ำได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2530 จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวได้ทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทพร้อมบ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 5 ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.7 ครั้นวันที่ 24 มีนาคม 2531 โจทก์ทั้งสามได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสามมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวด้วย เนื่องจากจำเลยที่ 1โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว และโจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่จำเลยที่ 1 ทำให้ฐานะส่วนตัวกับจำเลยที่ 2 เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562 โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าการห้ามฟ้องบุพการีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 เป็นเหตุเฉพาะตัวระหว่างโจทก์ทั้งสามผู้เป็นบุตรกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบิดาเท่านั้นหามีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วยไม่ เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ ปัญหาเรื่องโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1หรือไม่ จึงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ไม่อาจยกเรื่องห้ามฟ้องจำเลยที่ 1 มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ ส่วนปัญหาว่าโจทก์ทั้งสามจะมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินพิพาทพร้อมบ้านคืนจากจำเลยที่ 2 หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 กระทำการที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสามหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหล่ำได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสาม แม้พินัยกรรมมีข้อกำหนดว่าโจทก์ทั้งสามจะขอรับที่ดินมรดกได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์แล้วก็ตาม แต่ผลในที่สุดที่ดินพิพาทคงต้องตกไปเป็นของโจทก์ทั้งสามตามข้อกำหนดของพินัยกรรม จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายหล่ำ ย่อมเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการจัดการมรดก จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรมของนายหล่ำตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1719 จะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของนายหล่ำมา แล้วโอนที่ดินพิพาทให้ตนเองในฐานะส่วนตัว โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมนั้น และเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายหล่ำ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายหล่ำโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวเช่นนี้ จึงมิใช่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยสุจริตตามข้อกำหนดในพินัยกรรมแต่เป็นการทำนิติกรรมให้จำเลยที่ 1 มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของนายหล่ำ อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกับในฐานะส่วนตัวจึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 133 เดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำนิติกรรมต้องถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นกองมรดกของนายหล่ำอยู่ตามเดิม หาตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ สำหรับบ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 5ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นส่วนควบของที่ดิน ย่อมตกได้แก่โจทก์ทั้งสามผู้รับพินัยกรรมไม่ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวด้วยเช่นกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมบ้านในที่ดินเสียแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวก็ไม่มีสิทธิที่จะเอาที่ดินพิพาทพร้อมบ้านในที่ดินไปขายฝากให้แก่ผู้ใดได้ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ได้รับซื้อฝากและรับโอนชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาทพร้อมบ้านไว้จากจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะขายฝากได้ ย่อมไม่เกิดผลให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามนิติกรรมขายฝาก ทั้งเป็นการกระทำที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรม โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินพิพาทพร้อมบ้านอันเป็นส่วนควบคืนจากจำเลยที่ 2 ผู้ไม่มีสิทธิได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสามไม่ขาดอายุความเพราะเป็นการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 อ้างในฎีกาไม่ตรงกับรูปเรื่องในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อได้วินิจฉัยคดีไปตามนัยดังกล่าวแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้ออื่นอีกต่อไป”
พิพากษายืน

Share