คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3257/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพระภิกษุร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3เข้าไปในห้องเกิดเหตุ แล้วจำเลยที่ 2 จากไปด้วยอาการรีบร้อนเป็นพฤติการณ์ที่เปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ลงมือทำร้ายและลักทรัพย์ของผู้เสียหาย และอาวุธปืนที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 ก็เป็นอาวุธปืนกระบอกเดียวกับที่จำเลยที่ 2 นำไปฝากไว้แก่พยานโจทก์ และจำเลยที่ 2 ไปขอคืนมาในตอนเช้าวันเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 ยังไม่ถึงขั้นเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยแบ่งหน้าที่กันทำ แต่เป็นเพียงผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดเท่านั้น ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 เป็นผู้พาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ไปชี้ห้องที่เกิดเหตุเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้สนับสนุน มิใช่ตัวการร่วมกระทำผิด แม้จำเลยที่ 4 มิได้ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยที่ 4 ให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,83, 91, 92, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์พระพุทธรูปที่แตกหักเป็นเงิน 20,000บาท แก่ผู้เสียหาย ริบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และรถยนต์ของกลางและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพและไม่สืบพยานและจำเลยที่ 1 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 340 วรรคสอง, 340 ตรีพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิวรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง (ที่ถูกน่าจะเป็น 72 วรรคสาม) จำเลยที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 340 วรรคสอง จำเลยที่ 2ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก,72 วรรคสอง (ที่ถูกน่าจะเป็น 72 วรรคสาม), 72 ทวิ วรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำคุกจำเลยที่ 1 ข้อหาฐานปล้นทรัพย์22 ปี 6 เดือน ข้อหาฐานมีอาวุธปืน 1 ปี ข้อหาฐานพาอาวุธปืนให้ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 จำคุก1 ปี รวมจำคุก 24 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 เป็นจำคุก 32 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่มีเหตุลดโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ข้อหาปล้นทรัพย์ 15 ปี ข้อหาฐานมีอาวุธปืน 1 ปีข้อหาฐานพาอาวุธปืนให้ลงโทษบทหนัก ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 จำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 17 ปีจำคุกจำเลยที่ 3 ข้อหาปล้นทรัพย์ 22 ปี 6 เดือน ข้อหาฐานพาอาวุธปืนให้ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 จำคุก1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 23 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด11 ปี 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4 ข้อหาปล้นทรัพย์ 15 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือนให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ราคาทรัพย์ 20,000 บาทแก่ผู้เสียหาย และคืนอาวุธปืนและรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้เข้าไปในห้องที่เกิดเหตุลักเอาสร้อยคอทองคำ 1 เส้น ราคา 5,000 บาทพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนหน้าตัก 8 นิ้ว 1 องค์ ราคา 20,000 บาทพระพุทธรูปแก้วสีน้ำตาลหน้าตัก 8 นิ้ว 1 องค์ ราคา 20,000 บาท ของผู้เสียหายไป โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนต่อสู้ระหว่างหลบหนีการจับกุม ทรัพย์สองรายการแรกผู้เสียหายได้รับคืนแล้ว ส่วนพระพุทธรูปแก้วสีน้ำตาลจำเลยที่ 1ทำตกแตกในบริเวณที่เกิดเหตุ คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ได้ร่วมกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์เห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 ร่วมทางกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปยังห้องพักที่เกิดเหตุในวันที่ 6 กุมภาพันธ์2534 และได้พูดกับนางชีฟองเพียงว่า มาจากวัดบ่อไร่ จังหวัดตราดจะมาซื้อของไปทอดผ้าป่า หากกลับวัดบ่อไร่ไม่ทันจะขอพักค้างคืนที่นั่น ซึ่งดูไม่เป็นสาระประการใด พฤติการณ์ส่อว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 พากันไปดูลู่ทางเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์มากกว่าและในวันถัดไปคือวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสามดังกล่าวได้ไปยังห้องพักดังกล่าวอีก ทั้งที่ไม่ปรากฏว่ามีธุระจำเป็นใดที่จะต้องไปยังสถานที่ดังกล่าวอีก การที่จำเลยที่ 2 ไปเพียงเข้าห้องน้ำแล้วจากไปด้วยอาการรีบร้อน เป็นพฤติการณ์ที่เปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ลงมือทำร้ายผู้เสียหายและลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป และอาวุธปืนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยที่ 1 ในขณะจับกุมก็เป็นอาวุธปืนพกลูกซองมีทะเบียน นว.6/14802 ซึ่งมีกระสุนปืนบรรจุอยู่3 นัด ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นอาวุธปืนกระบอกเดียวกับที่จำเลยที่ 2นำไปฝากสิบตำรวจตรีสุวัฒน์ชัยไว้ และไปขอคืนมาในตอนเช้าวันเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร
ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ด้วยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำจำเลยที่ 1 และที่ 3เข้าไปในห้องที่เกิดเหตุ แล้วออกไปก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3ลงมือกระทำความผิดการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงยังไม่ถึงขั้นเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยแบ่งหน้าที่กันทำแต่เป็นเพียงผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิด
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ได้ไปยังห้องที่เกิดเหตุกับจำเลยที่ 1และที่ 3 ด้วย คงได้ความแต่เพียงว่าก่อนเกิดเหตุหนึ่งวัน จำเลยที่ 4เป็นผู้พาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไปชี้ห้องที่เกิดเหตุเท่านั้น ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนการกระทำความผิด มิใช่ตัวการในการกระทำความผิด เมื่อปรากฏว่าขณะเกิดเหตุมีเพียงจำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าไปลักทรัพย์ผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการอุดปากและทุบแก้มผู้เสียหายจนฟันหัก1 ซี่ เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ และการพาทรัพย์นั้นไปเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยที่ 1และที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ที่ศาลล่างลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี ให้จำคุก15 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ข้อหานี้ 20 ปี รวมทุกกระทงเป็นจำคุก 22 ปี 8 เดือนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 339 วรรคสามให้จำคุก 7 ปี มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,72 วรรคสาม ให้จำคุก 1 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นบทหนักให้จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 9 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรีให้จำคุก 15 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 3 ข้อหานี้ 7 ปี 6 เดือน รวมทุกกระทงเป็นจำคุก8 ปี จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86,339 วรรคสาม ให้จำคุก 7 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share