คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3239/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้จะได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ และศาลก็ได้มีคำสั่งตามคำร้องนั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 3ที่ 4 จะรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4ไม่สุจริต จำเลยที่ 3 ที่ 4 ผู้รับโอนก็ไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2 ผู้โอน ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ โจทก์ผู้ที่มิได้เป็นคู่ความในคดีที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จึงเป็นบุคคลภายนอก มีอำนาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 15318 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ให้โจทก์ พวกจำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา หากไม่อาจดำเนินการดังกล่าวได้ขอให้จำเลยใช้ราคาเป็นเงิน 609,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15318 จำเลยที่ 1 มีสิทธิโอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยทั้งสี่ไม่จำต้องส่งมอบที่ดินแปลงดังกล่าวหรือใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ไปดำเนินไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โฉนดเลขที่ 15318 ตำบลช้างเผือกอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ตามฟ้องให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยหากไม่สามารถดำเนินการโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 350,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้ฎีกาว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15318 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2528 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรสาว วันที่ 20 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ในราคา 350,000 บาท มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์และครอบครองที่ดินพิพาทไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี หรือไม่พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มิได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ และจำเลยที่ 1 กับครอบครัวเพิ่งเข้าไปอยู่ในที่พิพาทเมื่อ ปี 2520 มิใช่ปี 2516 ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2520 จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2528 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นจึงยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิที่ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4จะรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็มีบ้านพักอยู่ติดกับที่ดินพิพาทย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยการครอบครองปรปักษ์ เพราะครอบครองมายังไม่ครบ 10 ปี เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้โอนไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทจำเลยที่ 3 ที่ 4 ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2 ผู้โอนในกรณีดังกล่าวนี้ โจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีที่จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอกมีอำนาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) ดังนั้น แม้จะไม่ได้ความว่าเหตุที่โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านในคดีก่อนนั้น เพราะไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทต่อศาล ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าของที่แท้จริงที่จะฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสี่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share