แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้าราชการกระทรวงกลาโหมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าราชการทหารกับข้าราชการกลาโหมพลเรือนซึ่งจะไม่ได้รับยศทันทีที่เข้ารับราชการ จำเลยที่ 1 สมัครเข้ารับราชการในโรงงานเภสัชกรรมทหารพร้อมกับทำสัญญากับโจทก์มีข้อความระบุไว้ว่าเป็นสัญญาการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งหมายความว่า มิใช่สัญญาการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือน การที่ทางราชการบรรจุแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนจึงมิได้เป็นไปตามข้อกำหนดสัญญาที่ทำกันไว้ ข้อสัญญาที่ให้จำเลยที่ 1 ต้องอยู่ปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงไม่มีผลบังคับเมื่อจำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการก่อนครบกำหนด 3 ปี จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาเข้ารับราชการ และสัญญาค้ำประกันเป็นเงินจำนวน 45,056.25 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน45,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 45,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า ข้าราชการกระทรวงกลาโหมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าราชการทหารกับข้าราชการกลาโหมพลเรือนซึ่งจะไม่ได้รับยศทันทีที่เข้ารับราชการ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2528 จำเลยที่ 1 สมัครเข้ารับราชการในโรงงานเภสัชกรรมทหาร พร้อมกับทำสัญญากับโจทก์ไว้ว่าเมื่อทางราชการมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 เข้ารับราชการเป็นข้าราชการทหารชั้นสัญญาบัตร จำเลยที่ 1 ยินดีรับราชการไม่น้อยกว่า 3 ปีถ้าจำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการก่อนครบกำหนด 3 ปี หรือทางราชการมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการก่อนครบกำหนด 3 ปี เพราะความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยอมเสียค่าปรับให้แก่โจทก์ โดยถ้ารับราชการไม่ครบ 1 ปี จำเลยที่ 1 ยอมเสียค่าปรับเป็นเงิน 45,000บาทปรากฏตามสัญญาการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการทหารชั้นสัญญาบัตรเอกสารหมาย จ.8 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการเข้ารับราชการของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.9ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งบรรจุให้จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร จำเลยที่ 1 ได้ไปรายงานตัวเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม2529 จำเลยที่ 1 ได้ขอลาออกจากราชการโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2529 กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งอนุมัติให้จำเลยที่ 1ออกตามที่ขอ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่า การที่จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการก่อนครบกำหนด 3 ปี เป็นการปฏิบัติผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าปรับให้แก่โจทก์หรือไม่ จากคำเบิกความของจำเลยที่ 1ได้ความว่า ที่จำเลยที่ 1 สมัครเข้ารับราชการที่โรงงานเภสัชกรรมทหารเพราะจำเลยที่ 1 ต้องการมียศทางทหาร คำเบิกความของจำเลยที่ 1ดังกล่าวสอดคล้องกับสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 โดยสัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ว่าเป็นสัญญาการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งหมายความว่ามิใช่สัญญาการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือน สัญญาดังกล่าวข้อ 1ก็เขียนไว้มีใจความว่า เมื่อทางราชการมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1เข้ารับราชการเป็นข้าราชการทหารชั้นสัญญาบัตร จำเลยที่ 1 ยินดีรับราชการไม่น้อยกว่า 3 ปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับหน้าที่ปฏิบัติราชการ ข้อความเช่นนี้ย่อมหมายความว่าทางราชการจะมีคำสั่งบรรจุแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เข้ารับราชการเป็นข้าราชการทหารชั้นสัญญาบัตร และจำเลยที่ 1 จะอยู่ปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่า3 ปี เมื่อสัญญาเป็นดังนี้ การที่ทางราชการบรรจุแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือน จึงมิได้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาที่ทำกันไว้ ข้อสัญญาที่ให้จำเลยที่ 1 ต้องอยู่ปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงไม่มีผลบังคับ ที่จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการก่อนครบกำหนด 3 ปี จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน