แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมตกลงขายทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 กรรมสิทธิ์จึงโอนไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว การที่จำเลยทั้งสามนำเอาทรัพย์นั้นไปจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามร่วมกันลักเอาทรัพย์ต่าง ๆ รวม 14 รายการตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำฟ้องรวมราคา 6,592,510 บาท ของบริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ผู้เสียหายไปโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 83 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์รายการที่ 1-6 รวมราคา142,510 บาท
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธโดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ซื้อเครื่องจักรตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำฟ้องจากผู้เสียหายและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว กรรมสิทธิ์ตกเป็นของจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุที่จะต้องคืนของกลางให้ผู้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 คนละ 1 ปี ปรับคนละ10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี หากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์รายการที่ 1-6 รวมราคา 142,510 บาท แก่โจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำฟ้องอันดับ 7-14 แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามว่า โจทก์ร่วมได้รับจ้างงานสร้างทางสายพิมาย-หินดาดให้กรมทางหลวง โดยโจทก์ร่วมมอบให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้รับเงินค่าก่อสร้างจากกรมทางหลวงแทนต่อมาโจทก์ร่วมมอบงานก่อสร้างทางให้จำเลยที่ 1 รับช่วงไปทำส่วนเงินค่าก่อสร้างธนาคารกสิกรไทยยังเป็นผู้รับจากกรมทางหลวงเช่นเดิมโดยเมื่อจำเลยที่ 1 ทำงานเสร็จตามงวดงานและโจทก์ร่วมรับรองแล้ว จึงให้ธนาคารกสิกรไทยจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างสร้างทางเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 6 และข้อ 7 ก่อนงานงวดสุดท้ายเสร็จ จำเลยทั้งสามได้ทยอยขนเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้เมื่อตรวจดูสัญญาจ้างสร้างทางระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาและบัญชีเครื่องจักรตามเอกสารหมาย จ.5 แล้วเห็นได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายเครื่องจักรตามบัญชีเครื่องจักรเอกสารหมาย จ.5 ในราคารวมทั้งสิ้น 6,470,000 บาทโดยโจทก์ร่วมส่งมอบเครื่องจักรให้จำเลยที่ 1 นำไปใช้ทำงานก่อสร้างทางแล้ว ส่วนการชำระราคาเครื่องจักรนั้น ปรากฏตามหนังสือแจ้งขอให้ธนาคารกสิกรไทยช่วยหักเงินตามเอกสารหมาย ล.33 ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งสามขอหมายเรียกมาจากธนาคารกสิกรไทยสำนักงานใหญ่ ตามหมายเรียกลงวันที่ 29 กันยายน 2529 และธนาคารกสิกรไทย ได้ถ่ายเอกสารดังกล่าวโดยรับรองสำเนาถูกต้องส่งมาให้ตามหนังสือลงวันที่ 3 ตุลาคม 2529 มีความว่า “โจทก์ร่วมขอให้ธนาคารกสิกรไทยหักเงินค่าเครื่องจักร 6,470,000 บาท และหักค่ากล้องระดับ กล้องแนว 30,000 บาท ให้โจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมยอมให้ธนาคารกสิกรไทยนำเงินที่หักไว้ไปลดยอดเงินเบิกเกินบัญชีของโจทก์ร่วม” ซึ่งในเรื่องขอให้หักเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 1ดังกล่าวนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำสืบหักล้างหรือปฏิเสธแต่อย่างใด โดยนายจำนงค์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ กรรมการของโจทก์ร่วมผู้มีชื่อเป็นผู้ลงนามในเอกสารดังกล่าว เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามว่า โจทก์ร่วมจะเคยมีหนังสือขอให้ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่หักเงินผู้รับเหมาหรือไม่ จำไม่ได้ และนายจำนงค์จะได้ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.33 หรือไม่ จำไม่ได้ เท่ากับมิได้ปฏิเสธเอกสารดังกล่าวจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อเครื่องจักรตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5จากโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมส่งมอบเครื่องจักรให้จำเลยที่ 1 แล้วส่วนการชำระราคาโจทก์ร่วมให้ธนาคารกสิกรไทยหักจากค่าก่อสร้างทางที่จะต้องจ่ายให้จำเลยที่ 1 ส่วนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องบางส่วนที่แตกต่างไปจากที่ตกลงขายหลังส่งมอบไว้ตามสัญญาเอกสารหมายจ.4 จ.5 นั้น ก็ปรากฏตามข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามว่าโจทก์ร่วมได้นำทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับ 1-7 มาให้แทน เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ร่วมได้ตกลงขายทรัพย์ตามฟ้องให้จำเลยที่ 1 โดยมีการชำระราคาดังกล่าวข้างต้นแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ตกลงขายจึงโอนไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว การที่จำเลยทั้งสามนำเอาทรัพย์ตามฟ้องไปจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน