คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2682/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวถึงคำขอบังคับไว้ชัดแจ้งแล้วส่วนศาลจะบังคับให้จำเลยทั้งสามต้องปฏิบัติตามคำขอบังคับของโจทก์หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลตามรูปคดี ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 3186 ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2531 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์เป็นเงิน 300,300 บาท โจทก์ได้ชำระเงินในวันทำสัญญา 30,030 บาทส่วนที่เหลือตกลงจะชำระให้ในวันจดทะเบียนโอน มีกำหนดระยะเวลา120 วัน นับแต่วันทำสัญญา เมื่อครบกำหนดโจทก์ได้ขอให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาแต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมไปจดทะเบียนโอน โจทก์ได้นำเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดจำนวน 270,270 บาท ไปวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 5 เพื่อให้จำเลยที่ 1และที่ 2 รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วจัดการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญา ต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1และที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉยการกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ 3182 ตำบลไชยสถานอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสามไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 90,090 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ข้อ 7ระบุว่า หากผู้จะขายผิดสัญญาให้สัญญายกเลิก และผู้จะขายยอมเสียเบี้ยปรับ 3 เท่าของเงินมัดจำ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 4 กลับบรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาโดยให้โอนที่ดินแก่โจทก์พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาเป็นจำนวน 3 เท่าของเงินจำนวน 30,030 บาท เป็นเงิน 90,090 บาทนั้นทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ไม่ทราบว่าโจทก์ประสงค์ฟ้องบังคับจำเลยในทางใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน90,090 บาท แก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นให้ยก จำเลยที่ 1 และที่ 2อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนทำสัญญาจะขายที่ดินมีโฉนดซึ่งจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ และโจทก์ชำระราคาที่ดินบางส่วนให้ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว ราคาที่ดินส่วนที่เหลือจะชำระให้ครบถ้วนในวันจดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งกำหนดไว้ภายใน 120 วันนับแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขาย ครั้นครบกำหนดเวลาตามข้อตกลงโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาแก่โจทก์แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงนำเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือไปวางไว้ต่อสำนักงานวางทรัพย์ แล้วบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ เพื่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับเงินจำนวนดังกล่าวและจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1และที่ 2 กลับเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ได้ทำไว้ต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย สำหรับคำขอบังคับนั้นโจทก์ก็ระบุไว้ด้วยว่า ขอให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสามไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 90,090 บาท แก่โจทก์ เห็นว่า โจทก์กล่าวถึงคำขอบังคับไว้ชัดเจนแล้วโดยขอให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามสัญญาและที่ขอเรียกค่าเสียหายด้วยก็เนื่องจากการที่จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการขาดประโยชน์อีก ส่วนศาลจะบังคับให้จำเลยทั้งสามต้องปฏิบัติตามคำขอบังคับของโจทก์หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลตามรูปคดีทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ให้การว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้หลงข้อต่อสู้แต่อย่างใดดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2กล่าวอ้าง”
พิพากษายืน

Share