คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2664/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โรคหรือการเจ็บป่วยอย่างอื่นที่ทำให้ลูกจ้างถึงแก่ความตายอันเป็นผลให้นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนตามความในข้อ 22 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องโรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการทำงานฯ นั้น จะต้องเป็นโรคหรือการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างโดยตรง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ งานที่ลูกจ้างทำนั้นเป็นมูลให้เกิดโรคหรือการเจ็บป่วยขึ้นและเป็นเหตุให้ลูกจ้างถึงแก่ความตายด้วยโรคหรือการเจ็บป่วยดังกล่าว อ. ทำงานเกี่ยวกับด้านบัญชี แม้ภายหลังนายจ้างจะมอบหมายงานให้ทำมากขึ้นโดยให้อ.เฝ้าเหมือง ดูแลคนงาน เบิกจ่ายเงินเดือนดูแลพัสดุ ติดต่อกับหน่วยงานอื่นและคุมแร่ไปขายด้วย งานที่ อ.ทำก็มิใช่งานที่ต้องใช้กำลังมากไม่อาจทำให้เกิดโรคหรือการเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายได้ ทั้ง อ.มิได้ทำงานตรากตรำวันเกิดเหตุอ.ไปทำงานตอนเช้า ตอนสายได้กลับมาบ้านและให้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาพาไปส่งโรงพยาบาลเนื่องจากปวดศีรษะ แต่ อ. เป็นลมล้มฟุบลงและถึงแก่ความตายเพราะหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลัน จึงถือไม่ได้ว่าอ.ถึงแก่ความตายด้วยโรคหรือการป่วยเจ็บเนื่องจากการทำงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโอกาสเทวภักดิ์ มีบุตรธิดาด้วยกัน 6 คน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นเลขาธิการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งเงินทดแทนตามกฎหมายนายโอกาสเป็นลูกจ้างของบริษัทเรือขุดแร่สหะพิบูลย์ จำกัดตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2515 ตำแหน่งผู้ช่วยเสมียนใหญ่ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,100 บาท เมื่อวันที่ 6กรกฎาคม 2535 นายโอภาสไปทำงานตามปกติตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกาและได้ออกไปตรวจดูคนงานขุดแร่ในเหมืองขณะที่มีอากาศร้อนจัดจนกระทั่งเกิดมีอาการปวดศีรษะ จึงขอลาหยุดงาน เพื่อขอพักผ่อนก่อนเวลา 11 นาฬิกา โดยกลับมานอนพักผ่อนที่บ้านแต่เมื่อมาถึงบ้านได้ 10 นาที ก็เกิดมีอาการแน่นหน้าอก หน้ามืดและเป็นลมแน่นิ่งหมดสติไป โจทก์จึงได้พานายโอภาสไปส่งที่โรงพยาบาล เมื่อไปถึงแพทย์ตรวจแล้วแจ้งกับโจทก์ว่านายโอภาสถึงแก่ความตายระหว่างทางโจทก์ได้ไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อขอรับเงินทดแทนตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับ แต่ทางสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครศรีธรรมราชแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน โจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวนั้นต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า นายโอภาสไม่ได้เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ งานในหน้าที่ความรับผิดชอบของนายโอภาสไม่ใช่งานเครียดและมีมติว่า นายโอภาสมิได้เจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเพราะการที่นายโอภาสถึงแก่ความตาย มีสาเหตุมาจากการทำงานให้แก่บริษัทเรือขุดแร่สหะพิบูลย์ จำกัด ผู้เป็นนายจ้าง ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครศรีธรรมราชและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองให้การว่า การตายของนายโอภาสเกิดจากโรคเกี่ยวกับหัวใจและมิใช่โรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการทำงานคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ชอบด้วยเหตุผลและถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานประกันสังคมที่ นศ.35/189 และคำวินิจฉัยที่ มท.1311/62411เรื่อง อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์และทายาทตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายโอภาส เทวภักดิ์ เป็นลูกจ้างบริษัทเรือขุดแร่สหะพิบูลย์ จำกัด ตั้งแต่ปี 2515 ทำหน้าที่ผู้ช่วยเสมียนใหญ่ ทำงานเกี่ยวกับบัญชี ต่อมาปี 2533 บริษัทนายจ้างประสบการขาดทุนได้เลิกจ้างพนักงาน เหลือพนักงานประจำสำนักงาน 3 คนบริษัทนายจ้างมอบหมายให้นายโอภาสเฝ้าเหมือง ดูแลคนงานเบิกจ่ายเงินเดือน ดูแลพัสดุ ติดต่อกับหน่วยงานอื่นและคุมแร่ไปขายที่จังหวัดภูเก็ต เดิมนายโอภาสเป็นคนแข็งแรงไม่เคยป่วยเจ็บก่อนถึงแก่ความตาย 5-6 เดือน นายโอภาสบ่นกับเพื่อนร่วมงานว่ามีอาการปวดหัวและไม่สบายเนื่องจากต้องทำงานหนัก วันที่ 6กรกฎาคม 2535 ตอนเช้านายโอภาสไปทำงานตามปกติ ตอนสายนายโอภาสได้กลับไปที่บ้านและบอกให้โจทก์พาไปส่งโรงพยาบาลเนื่องจากปวดศีรษะ แล้วนายโอภาสเป็นลมล้มฟุบลงที่โต๊ะอาหารโจทก์พานายโอภาสไปส่งโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ แพทย์ตรวจแล้วแจ้งโจทก์ว่านายโอภาสถึงแก่ความตายเนื่องจากหัวใจหยุดทำงานโดยเฉียบพลันก่อนที่จะไปถึงโรงพยาบาล คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่านายโอภาสถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การที่นายโอภาสเป็นลมหมดสติและถึงแก่ความตายทันทีเนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลวเป็นผลเนื่องมาจากสภาพร่างกายของนายโอภาสเสื่อมโทรมไปตามธรรมชาติ มิใช่ตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โรคหรือการเจ็บป่วยอย่างอื่นที่ทำให้ลูกจ้างถึงแก่ความตายอันเป็นผลให้นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนตามความในข้อ 22แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง โรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 นั้น จะต้องเป็นโรคหรือการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างโดยตรงหรืออีกนัยหนึ่งก็คืองานที่ลูกจ้างทำนั้นเป็นมูลให้เกิดโรคหรือการเจ็บป่วยขึ้น และเป็นเหตุให้ลูกจ้างถึงแก่ความตายด้วยโรคหรือการเจ็บป่วยดังกล่าว ตามปกติแล้ว การทำงานของนายโอภาสทำงานเกี่ยวกับด้านบัญชี แม้ภายหลังนายจ้างจะมอบหมายงานให้ทำมากขึ้นโดยให้นายโอภาสทำงานเฝ้าเหมือง ดูแลคนงาน เบิกจ่ายเงินเดือนดูแลพัสดุ ติดต่อกับหน่วยงานอื่น และคุมแร่ไปขายที่จังหวัดภูเก็ตด้วย งานที่นายโอภาสทำก็มิใช่งานที่ต้องใช้กำลังมากไม่อาจทำให้เกิดโรคหรือการเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายได้ ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมานั้นนายโอภาสมิได้ทำงานตรากตรำ วันเกิดเหตุนายโอภาสไปทำงานตอนเช้าตามปกติ ตอนสายได้กลับมาบ้านและให้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาพาไปส่งโรงพยาบาล เนื่องจากปวดศีรษะแต่นายโอภาสเป็นลมล้มฟุบลงที่โต๊ะอาหาร และถึงแก่ความตายเพราะหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลัน การตายของนายโอภาสยังถือไม่ได้ว่าถึงแก่ความตายด้วยโรคหรือการป่วยเจ็บเนื่องจากการทำงาน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share