แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เวลาส่วนใหญ่ที่โจทก์ไม่อยู่ปฏิบัติงานที่โต๊ะทำงานเป็นระหว่างเวลา 11 นาฬิกาเศษและ 13 นาฬิกา และตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยให้พนักงานหยุดพักได้วันละ 1 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 11.30-13.30 นาฬิกาตามแต่ผู้บังคับบัญชาจะเห็นสมควรโจทก์ไม่อยู่ปฏิบัติงานที่โต๊ะทำงานเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้นเมื่อพิจารณาประกอบกับวินัยพนักงานที่เกี่ยวกับการละทิ้งหน้าที่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ซึ่งระบุว่า”พนักงานต้องไม่ละทิ้งหน้าที่ของตนหรือขาดงานหรือไม่ปฏิบัติงานเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร” แล้ว โจทก์จึงหาได้กระทำผิดวินัยพนักงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในข้อดังกล่าวไม่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คดีก่อน โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและมีคำขอบังคับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหายรวมทั้งเงินสะสมด้วย ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวกับข้อหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวกับเงินสะสมแต่อย่างใด โจทก์มาฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและมีคำขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย รวมทั้งเงินสะสมด้วย คำฟ้องในส่วนของเงินสะสมคดีนี้จึงอาศัยเหตุเลิกจ้างคนละคราวกับคดีก่อนและยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดที่ศาลได้วินิจฉัยไว้โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้างแม้มิได้กำหนดให้นับอายุงานต่อเนื่องไว้แต่ตามผลและรูปคดีย่อมแสดงว่าเป็นการสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปในฐานะเดิมก่อนการเลิกจ้าง การนับอายุงานจึงต้องนับต่อเนื่องจากอายุงานเดิมมิใช่เริ่มนับอายุงานใหม่ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ไม่อยู่ที่โต๊ะทำงานย่อมถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งการงานไปเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเข้าทำงานตั้งแต่วันที่15 กรกฎาคม 2517 ปี 2533 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ฟ้องศาลแรงงานกลางให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานโจทก์กลับเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม2534 วันที่ 11 ตุลาคม 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบวินัยของจำเลยด้วยการละทิ้งหน้าที่ ซึ่งโจทก์มิได้กระทำตามที่กล่าวหา จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินสะสม เงินบำเหน็จ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมรวมเป็นเงิน 6,170,936.91 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้จำเลยชำระภาษีเงินได้แทนโจทก์ ให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์
จำเลยให้การว่า ระหว่างวันที่ 9 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 2พฤษภาคม 2534 โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยโดยจำเลยเลิกจ้างแล้ว ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาว่า การที่โจทก์กลับเข้าทำงานกับจำเลยนั้นมิให้ถือเป็นการเลิกจ้างเสมือนไม่มีความผิดแต่อย่างใด อีกทั้งมิได้ระบุให้จำเลยรับกลับเข้าทำงานเสมือนมิได้ถูกเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่อาจนำระยะเวลาช่วงดังกล่าวมานับต่อจากช่วงเวลาทำงานตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2538 ในระหว่างเวลาทำงานโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นประจำ จำเลยตักเตือนด้วยวาจา โจทก์ทำผิดซ้ำอีกจึงตักเตือนเป็นหนังสือโจทก์ยังทำผิดซ้ำคำเตือน เป็นการกระทำผิดระเบียบวินัยข้อบังคับของจำเลยโจทก์ขัดขืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย จำเลยเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินสะสมเป็นฟ้องซ้ำโจทก์กลับเข้าทำงานได้ไม่ครบหนึ่งปีไม่มีสิทธิลาพักผ่อน เงินบำเหน็จนั้นจำเลยออกระเบียบข้อบังคับเปลี่ยนแปลงระบบเงินสะสมมาเป็นระบบบำเหน็จ เมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องและจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบชำระภาษีแทนโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน45,600 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 12,667 บาทเงินสะสมเป็นเงิน 75,868 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 3,546.66 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างเป็นเงิน125,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่าเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่หลายครั้งตามเอกสารหมาย ล.22 จำเลยจึงมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยเข้าทำงานเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2517 โจทก์ถูกเลิกจ้างครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2533 โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัย ฝ่ายการพนักงาน และเลิกจ้างโจทก์อีกครั้งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุโจทก์ละทิ้งหน้าที่ตามรายงานลับของนายประพันธ์ สวนอุดมสุขซึ่งกล่าวว่าโจทก์ไม่อยู่ปฏิบัติงาน ที่โต๊ะทำงานแต่ปรากฏจากรายงานลับของนายประพันธ์ สวนอุดมสุข เอกสารหมาย ล.22 ว่าเวลาส่วนใหญ่ที่โจทก์ไม่อยู่ปฏิบัติงานที่โต๊ะทำงานนั้นเป็นระหว่างเวลา 11นาฬิกาเศษ และ 13 นาฬิกา เช่น ในรายงานฉบับสุดท้าย ซึ่งเป็นรายงานในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2534 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2534 มีรายการว่า
วันที่ 1 สิงหาคม 2534 11.15-11.45 น.
วันที่ 28 สิงหาคม 2534 15.50-16.15 น.
วันที่ 29 สิงหาคม 2534 13.50-15.40 น.
วันที่ 2 กันยายน 2534 11.50-13.00 น.
วันที่ 12 กันยายน 2534 11.45-13.00 น.
และ 16.00-16.25 น.
วันที่ 18 กันยายน 2534 11.55-13.00 น.
วันที่ 20 กันยายน 2534 16.05-16.20 น.
วันที่ 25 กันยายน 2534 11.25-13.00 น.
วันที่ 30 กันยายน 2534 11.40-13.00 น.และปรากฏตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.13ข้อ 1.5 ว่า “ให้พนักงานหยุดพักได้วันละ 1 ชั่วโมง ระหว่างเวลา11.30 -13.30 น. ตามแต่ผู้บังคับบัญชาจะเห็นสมควร” ดังนั้น การที่โจทก์ไม่อยู่ปฏิบัติงานที่โต๊ะทำงานตามรายงานลับเอกสารหมาย ล.22จึงเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้นซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับวินัยพนักงานที่เกี่ยวกับการละทิ้งหน้าที่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.13 ข้อ 5.1.11 ซึ่งระบุว่า “พนักงานต้องไม่ละทิ้งหน้าที่ของตน หรือขาดงาน หรือไม่ปฏิบัติงานเป็นเวลา 3วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร” แล้ว เห็นได้ว่าโจทก์หาได้กระทำผิดวินัยพนักงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในข้อดังกล่าวไม่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุเพียงเท่าที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.22 ดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า คำฟ้องในส่วนของเงินสะสมเป็นฟ้องซ้ำนั้นเห็นว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ 1087/2534 ของศาลแรงงานกลางนั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2533 โดยไม่เป็นธรรมและมีคำขอบังคับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากศาลเห็นว่า โจทก์ไม่อาจทำงานร่วมกับจำเลยได้ขอให้ศาลกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 5,753,650.50 บาทแทน และให้จำเลยจ่ายเงินต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างรวมทั้งเงินสะสมจำนวน 68,312.24 บาทด้วย ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวกับข้อหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้างโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวกับเงินสะสมแต่อย่างใด โจทก์มาฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 11ตุลาคม 2534 โดยไม่เป็นธรรม และมีคำขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายและจ่ายเงินต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างรวมทั้งเงินสะสมจำนวน125,274.33 บาท ด้วย ดังนั้น คำฟ้องในส่วนของเงินสะสมคดีนี้จึงอาศัยเหตุเลิกจ้างคนละคราวกับคดีก่อน และยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด ที่ศาลได้วินิจฉัยไว้โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2534 ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางซึ่งมิได้พิพากษาให้โจทก์มีอายุงานต่อเนื่อง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 11 ตุลาคม 2534 โจทก์จึงทำงานกับจำเลยไม่ครบ 1 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง อัตราสุดท้าย 30 วันและไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีและเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีด้วยจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้านั้นเห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2517 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ครั้งแรกในวันที่ 9 มีนาคม 2533 โจทก์นำคดีไปสู่ศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง คำขออื่นให้ยก คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางดังกล่าวแม้มิได้กำหนดให้นับอายุงานต่อเนื่องไว้แต่ตามผลและรูปคดีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานดังกล่าว ย่อมแสดงว่าเป็นการสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปในฐานะเดิมก่อนการเลิกจ้าง การนับอายุงานจึงต้องนับต่อเนื่องจากอายุงานเดิม มิใช่เริ่มนับอายุงานใหม่ หลังจากที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานดังที่จำเลยอ้าง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นเงิน 45,600 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 3,546.66 บาทนั้นชอบแล้ว ส่วนปัญหาเรื่องการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ไม่อยู่ที่โต๊ะทำงาน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งการงานไปเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง