คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 แต่เมื่อจำเลยทั้งสองเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งสอง จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองและมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันมีสิทธิครอบครองที่ดินราชพัสดุ 1 แปลง โจทก์ทั้งสองอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเข้าไปปลูกกระต๊อบอยู่อาศัยในที่ดินชั่วคราว ต่อมาโจทก์ทั้งสองแจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนและขนย้ายกระต๊อบออกไปแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนและขนย้ายกระต๊อบออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ครอบครองที่ดินตามฟ้อง จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามฟ้องโดยไม่ได้อาศัยสิทธิของโจทก์ ที่ดินตามฟ้องเป็นที่ราชพัสดุโจทก์มิได้เป็นผู้เช่าหรือรับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังให้ฟ้องคดีแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินแปลงพิพาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทเพราะที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ผู้มีอำนาจฟ้องขับไล่คือกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ เดิมนางสังเวียนด้วงสำรวย เป็นผู้ครอบครอง ต่อมาเมื่อปี 2525 นางสังเวียนได้โอนการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยนางสังเวียนได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเข้าไปปลูกกระต๊อบอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทชั่วคราว ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ถึงแม้ที่ดินพิพาทจะเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุพ.ศ. 2518 มาตรา 5 แต่เมื่อจำเลยทั้งสองเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ทั้งสอง กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองและมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสองโจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ขับไล่จำเลยทั้งสองนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share