คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2374/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ทั้งสามกล่าวในฟ้องชัดแจ้งว่าโจทก์แต่ละคนได้รับการยกให้และต่างก็เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นส่วนสัดตามที่รับโอนมาโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยโจทก์ทั้งสามจึงมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี โจทก์ทั้งสามชอบที่จะยื่นฟ้องจำเลยมาคนละสำนวน การที่โจทก์ ทั้งสามร่วมกันฟ้องมาในสำนวนเดียวกันและศาลชั้นต้นยอมรับฟังโจทก์ทั้งสามเช่นนี้ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาคดีนี้ย่อมต้องถือเอาราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสามแต่ละคนอ้างว่าเป็นของตนตามที่แบ่งแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัดกันมานั้น เมื่อราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสามแต่ละคนปรากฏว่าทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนไม่เกินคนละสองแสนบาท คดีของโจทก์แต่ละคนจึงเป็นคดีที่ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสน ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามมีที่ดินคนละ 1 แปลงเนื้อที่รวมกันประมาณ 87 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม ส.ค.1 แปลงเนื้อที่รวมกันประมาณ 87 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม ส.ค.1เลขที่ 92 เนื้อที่ 190 ไร่ นายอยู่และนางจวน จุ้นเสือ บิดามารดาของโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของ ต่อมาที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 92ถูกตัดออกไปอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองทุ่งสาน จำนวน 70 ไร่เศษคงเหลือเนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ นายอยู่และนางจวนถึงแก่กรรมประมาณ 20 ปีแล้ว ก่อนถึงแก่กรรมได้แบ่งที่ดินออกเป็น 5 แปลงแล้วยกให้โจทก์ทั้งสามและนายลำดวน จุ้ยเสือ ซึ่งเป็นบุตรปรากฏตามแผนที่สังเขปแสดงการครอบครองที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมาย 2 นับแต่ได้รับการยกให้โจทก์ทั้งสามต่างก็เข้าครอบครองทำประโยชน์อย่างเป็นส่วนสัด โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 20 กว่าปี ต่อมาเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2525 จำเลยได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรับวัดเพื่อขอออกน.ส.3 ก. และรังวัดรุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินที่โจทก์ทั้งสามครอบครอง โจทก์ทราบจากเจ้าพนักงานที่ดินนายลำดวนได้นำที่ดินทั้งแปลงไปขอออก น.ส.3 ทะเบียน ส.ค.1 เลขที่ 92 เนื้อที่ 115 ไร่3 งาน 84 ตารางวา แล้วโอนขายให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม2511 ปรากฏตามสำเนาภาพถ่าย น.ส.3 ทะเบียน ส.ค.1 เลขที่ 92เอกสารท้ายฟ้องหมาย 3 โดยโจทก์ทั้งสามไม่ทราบมาก่อน โจทก์ทั้งสามจึงยื่นคำคัดค้านการขอออก น.ส.3 ก. ของจำเลยเพราะจำเลยไม่เคยเข้าครอบครองและเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวโจทก์ได้ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ตามส่วนสัดที่ครอบครองกันมา จำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตาม น.ส.3ทะเบียน ส.ค.1 เลขที่ 92 ตามแผนที่สังเขปแสดงการครอบครองในส่วนหมายเลข 1 เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เป็นของโจทก์ที่ 1 ในส่วนหมายเลข 2 และ 4 เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เป็นของโจทก์ที่ 2และในส่วนหมายเลข 5 เนื้อที่ประมาณ 27 ไร่เป็นของโจทก์ที่ 3ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนคืนพร้อมทั้งรังวัดแบ่งแยกให้โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าได้รับการยกให้ที่ดินตามฟ้องซึ่งเป็นที่ดินพิพาทจากนายอยู่และนางจวนบิดามารดาและได้ครอบครองทำประโยชน์เป็นส่วนสัดโดยโจทก์ที่ 1 ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ โจทก์ที่ 2ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ โจทก์ที่ 3 ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 27 ไร่ ติดต่อกันเป็นเวลา 20 ปีนั้นไม่เป็นความจริงความจริงที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 92 เป็นของจำเลย เนื้อที่ประมาณ160 ไร่ เพราะนายลำดวนเป็นผู้รับมรดกที่ดินจำนวนเนื้อที่ดังกล่าวมาจากนายอยู่และนางจวนแต่ผู้เดียวแล้วจดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้งหมดให้แก่จำเลยในราคา 30,000 บาท โดยโจทก์ทั้งสามได้รู้เห็นและยินยอม การขอรับมรดก การออก น.ส.3 และจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้จำเลยดังกล่าวนั้นได้ทำตามระเบียบในคราวเดียวกันโดยความยินยอมของโจทก์ทั้งสามเมื่อ พ.ศ. 2511 ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาขายที่ดิน 1 แปลงท้ายคำให้การ นับแต่นั้นเป็นต้นมา จำเลยได้เข้าครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าว ให้เช่าเสียภาษีบำรุงท้องที่และนำไปจำนองอย่างเจ้าของทั้งหมด และได้ครอบครองรวมทั้งเนื้อที่ส่วนที่ถูกเขตนิคมสร้างตนเอง ทุ่งสานตัดผ่านเข้าอยู่ในเขตของนิคมด้วย โจทก์ที่ 2 ได้เคยขอแบ่งเช่าที่ดินพิพาททำนาจากจำเลยบางปีเท่านั้น เมื่อเดือนธันวาคม 2525 จำเลยได้ไปยื่นคำขออก น.ส.3 ก. ในส่วนที่เคยออก น.ส.3 มาแล้ว โจทก์ที่ 1ได้ไปคัดค้าน และเมื่อเดือนมกราคม 2526 โจทก์ที่ 1 และที่ 3ได้บุกรุกเข้าไปไถนาในเขตที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลยบางส่วน ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้ขอแบ่งเช่ากับจำเลยเป็นจำนวน 10 ไร่ แต่โจทก์ที่ 2เข้าไปไถเกินจำนวนเนื้อที่ที่เช่าและไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานว่าจำเลยบังคับให้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่า จำเลยจึงกลับใจไม่ให้เช่าต่อไป และได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสามคดีอยู่ระหว่างสอบสวน โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามที่ดินของโจทก์ที่ 1 มีเนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวาของโจทก์ที่ 2 มีเนื้อที่ 5 ไร่ 80 ตารางวา และ 22 ไร่ 2 งาน60 ตารางวา ของโจทก์ที่ 3 มีเนื้อที่ 38 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวาตามแผนที่เอกสารหมาย จ.2 และให้แผนที่ตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ให้เพิกถอน น.ส.3 (ทะเบียน ส.ค.1)ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปคำขอให้จำเลยจดทะเบียนและแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ทั้งสาม ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยจะขอแถลงการณ์ประกอบคำแก้ฎีกาด้วยนั้นเห็นว่าไม่จำเป็น จึงให้งดเสีย พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 18 ซึ่งมีผลใช้บังคับในขณะโจทก์ทั้งสามยื่นฎีกาบัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ฯลฯ” คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมี น.ส.3 ทะเบียน ส.ค.1 เลขที่ 92 เป็นหลักฐานจากนายลำดวนจุ้ยเสือ ซึ่งเป็นผู้ขอออก น.ส.3 ดังกล่าวแล้ว นำมาขายให้จำเลยจำเลยได้ครอบครองโดยฝ่ายโจทก์มิได้โต้แย้ง ถือได้ว่าจำเลยได้ใช้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเจ้าของ โจทก์ทั้งสามไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าวเช่นจำเลย แล้วฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโจทก์ทั้งสามฎีกาว่าที่ดินพิพาทไม่เป็นของนายลำดวน เพราะโจทก์ทั้งสามได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทมาจากนายอยู่และนางจวนจุ้ยเสือ บิดามารดา โจทก์ทั้งสามได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 20 ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้ง ส่วนจำเลยไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใดเลย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในส่วนของโจทก์ที่ 1 มีเนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ของโจทก์ที่ 2 มีเนื้อที่ 5 ไร่ 80 ตารางวา และ 22 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวารวมกันแล้วมีเนื้อที่ 27 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา และของโจทก์ที่ 3มีเนื้อที่ 38 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา และคู่ความตีราคาที่ดินพิพาทตามราคาที่ทางราชการได้ประเมินไว้เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ดังกล่าวไร่ละ 4,000 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสามกล่าวในฟ้องชัดเจนว่าโจทก์แต่ละคนได้รับการยกให้และต่างก็เข้าครอบครองทำประโยชน์อย่างเป็นส่วนสัดตามที่รับโอนมาดังกล่าว โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย โจทก์ทั้งสามจึงได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีโจทก์ทั้งสามชอบที่จะยื่นฟ้องจำเลยมาคนละสำนวน การที่โจทก์ทั้งสามรวมกันฟ้องมาในสำนวนเดียวกัน และศาลชั้นต้นยอมรับฟ้องโจทก์ทั้งสาม เช่นนี้ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาคดีนี้ย่อมต้องถือเอาราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสามแต่ละคนอ้างว่าเป็นของตนตามที่แบ่งแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัดกันมานั้น ศาลฎีกาคำนวณราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสามแต่ละคนแล้วปรากฏว่าทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนไม่เกินคนละสองแสนบาท คดีของโจทก์แต่ละคนจึงเป็นคดีที่ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ทั้งสามมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งสาม

Share