แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยและผู้เสียหายที่ 1 ได้พบผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทเรื่องการกู้ยืมเงิน จำเลยได้พูดว่าผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าผู้เสียหายที่ 2และบุคคลอื่นว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้หญิงต่ำ ๆ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาว่าผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นคำพูดที่เหยียดหยามผู้เสียหายที่ 1 เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งหน้าแล้ว หาใช่เป็นเพียงคำพูดในเชิงปรารภปรับทุกข์ไม่ แต่ที่จำเลยพูดพาดพิงถึงผู้เสียหายที่ 2 ว่า “มันก็เข้าข้างกัน” ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เพราะผู้เสียหายที่ 2 มีหน้าที่ทางอาญาหาได้เกี่ยวกับกรณีพิพาททางแพ่งไม่ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะได้ทำการไกล่เกลี่ยเรื่องทางแพ่งให้และจัดการลงบันทึกประจำวันไว้ก็หาใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรงตามกฎหมายไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393, 136,91 และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 3.9 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393, 136 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ปรับ 1,000 บาท ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ปรับ 2,000 บาท รวมปรับ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ข้อแรกว่าคำพูดที่จำเลยว่าผู้เสียหายที่ 1 ว่า เป็นผู้หญิงต่ำ ๆ ไม่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งหน้า ข้อที่สองว่าการประนีประนอมข้อพิพาทในทางแพ่ง มิใช่เป็นการกระทำตามหน้าที่ของผู้เสียหายที่ 2ทั้งคำว่า “มันก็เข้าข้างกัน” ไม่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน
สำหรับปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาจำเลยข้อแรกนั้นปรากฏว่า ข้อหาความผิดฐานดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยจำนวนหนึ่งพันบาทข้อหานี้จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 3 ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยและผู้เสียหายที่ 1 ได้พบผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทเรื่องการกู้ยืมเงินแต่ตกลงกันไม่ได้ จำเลยได้พูดว่าผู้เสียหายที่ 1ต่อหน้าผู้เสียหายที่ 2 และบุคคลอื่นว่า ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้หญิงต่ำ ๆ เห็นว่า การที่จำเลยพูดว่าผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าผู้เสียหายที่ 2 กับมีผู้อื่นอยู่ด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาว่าผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นคำพูดที่เหยียดหยามผู้เสียหายที่ 1 เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งหน้าแล้ว หาใช่เป็นคำพูดในเชิงปรารภ ปรับทุกข์ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองเกี่ยวกับความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 นั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้ว จากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างที่ผู้เสียหายที่ 2 ไกล่เกลี่ยเพื่อประนีประนอมข้อพิพาทในทางแพ่งระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1นั้น จำเลยได้กล่าวคำว่า “มันก็เข้าข้างกัน” เห็นว่าผู้เสียหายที่ 2เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ในการปราบปรามสืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดทางอาญา หาได้เกี่ยวกับกรณีที่มีบุคคลพิพาทกันในทางแพ่งไม่ แม้คู่กรณีจะนำเรื่องทางแพ่งไปแจ้งให้จัดการไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบและเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการไกล่เกลี่ยให้และจัดการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก็หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรงตามกฎหมายไม่ คงเป็นแต่เพียงอัชฌาสัยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนเท่านั้นดังนั้น การกระทำของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจึงมิใช่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานแม้จำเลยได้พูดถ้อยคำดังกล่าว ก็ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานนี้และลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393เพียงกรรมเดียวเท่านั้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์