แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้เงินทุนการศึกษาและค่าปรับโดยในการทำสัญญารับทุนของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้เยาว์มีจำเลยที่ 2 ผู้แทนโดยชอบธรรม ของจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมในการทำสัญญาและจำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ด้วย กับมี อ.ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 โดยรับชดใช้เงินที่ต้องชดใช้แทนจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้นโดยมิต้องเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน ต่อมา อ.ถึงแก่กรรมจำเลยที่3เป็นทายาทของอ.ดังนี้ จำเลยทั้งสามจึงเป็นลูกหนี้ร่วมที่ต้องรับผิดร่วมกันตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 และมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ถือว่าจำเลยทั้งสามแทนซึ่งกันและกัน บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งกระทำโดยจำเลยคนหนึ่งถือว่าได้กระทำโดยจำเลยคนอื่น ๆ ด้วย การที่ศาลรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมาเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1โดยฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับทุนเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน55,134.25 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลจะนำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมาเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าคดีนี้ตามสัญญาของผู้ได้รับทุนการศึกษาวิชาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 3(ค)(5) จำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญา และสัญญาดังกล่าวระบุชัดว่า จำเลยที่ 1 จะพ้นความรับผิดต่อเมื่อจำเลยที่ 1 พิสูจน์ได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับราชการหรือปฏิบัติราชการ หรือต้องออกจากราชการนั้น มิได้เป็นไปโดยเพทุบาย หรือจงใจเพื่อให้ตนพ้นความผูกพันและความรับผิดชอบตามสัญญานี้ ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเลยที่ 1 ต้องกระทำโดยเฉพาะตัว บุคคลอื่นจะมาพิสูจน์แทนไม่ได้ การนำพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมาเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณามิได้นำสืบข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญาดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 กับพวกจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้เงินทุนการศึกษาและค่าปรับรวม 55,134.25 บาท เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผู้ทำสัญญารับทุนถูกปลดออกจากราชการ ในการทำสัญญารับทุนของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบิดาและผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมในการเข้าทำสัญญา เพราะจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ และจำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ด้วย และมีนายอาภรณ์ จำพลทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 โดยรับชดใช้เงินที่ต้องชดใช้แทนจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น โดยมิพักต้องเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน แม้นายอาภรณ์จะถึงแก่กรรม แต่มีจำเลยที่ 3เป็นทายาทของนายอาภรณ์ เห็นว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดร่วมกันตามสัญญา มีผลให้โจทก์สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสามคนใดคนหนึ่งได้เต็มจำนวนหนี้โดยสิ้นเชิง และจำเลยทั้งสามยังคงต้องผูกพันอยู่จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงจำเลยทั้งสามจึงเป็นลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 291 และมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ถือว่าจำเลยทั้งสามแทนซึ่งกันและกัน บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งกระทำโดยจำเลยคนหนึ่งถือว่าได้กระทำโดยจำเลยคนอื่น ๆ ด้วยการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมาเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 โดยฟังว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับทุนเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1)แล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน