คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2051/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิซึ่งมีตราสารย่อมหมายถึงตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามแบบพิธีในกฎหมาย และเป็นตราสารที่โอนกันได้ด้วยวิธีของตราสารนั้น ไม่หมายความถึงเอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นพยานหลักฐานแห่งสิทธิทั่ว ๆ ไป สิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พร้อมทะเบียนรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อที่ลูกหนี้มอบให้เจ้าหนี้เพื่อประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้นั้น หาได้มีลักษณะเป็นสิทธิซึ่งมีตราสารในความหมายดังกล่าวไม่ แม้สิทธิดังกล่าวอาจโอนแก่กันได้ก็เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องธรรมดาเท่านั้น การที่ลูกหนี้มอบสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พร้อมทะเบียนรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อแก่เจ้าหนี้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้ จึงไม่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 750 เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตาม พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 96(3)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาดเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามภาระค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงินของโจทก์เป็นเงิน 112,753,161.64 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับในส่วนที่ขาดตามมาตรา 96(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2583
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้วไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ ส่วนกรรมการผู้จัดการของลูกหนี้หลบหนีไม่มาให้การในชั้นสอบสวนและอยู่ระหว่างดำเนินการตามหมายจับของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงงดสอบสวนพยานลูกหนี้ และมีความเห็นเสนอศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ของลูกหนี้ จึงไม่มีอำนาจที่จะนำสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ไปจำนำกับเจ้าหนี้ และการที่โจทก์นำสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ของลูกหนี้พร้อมทะเบียนรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อไปมอบให้เจ้าหนี้ไม่เป็นการประกันหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้เพื่อประกันหนี้ที่โจทก์กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้แต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางสอบสวนพยานฝ่ายเจ้าหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากมูลหนี้ตามภาระค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงินของโจทก์โดยหนี้รายนี้เกิดจากโจทก์ได้กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้เนื่องจากโจทก์ประสบปัญหาด้านการเงินไม่มีเงินจ่ายให้แก่ลูกค้าผู้ฝากเงินกระทรวงการคลังจึงมอบหมายให้เจ้าหนี้เป็นผู้ระดมแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ให้บริษัทเงินทุนที่ประสบปัญหาได้กู้ยืมเงินนำไปแก้ปัญหาดังกล่าว โจทก์ได้กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้รวม 15 ครั้งระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2527 เป็นเงิน73,740,000 บาท ในการกู้ยืมเงินแต่ละครั้งโจทก์ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินแก่เจ้าหนี้รวม 15 ฉบับ โดยสัญญากับเจ้าหนี้ว่าจะจ่ายเงินคืนของแต่ละครั้งในการกู้ยืมนั้นหากเจ้าหนี้ทวงถามและยอมใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 และ 17.5 ต่อปีทุกเดือน เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว รายละเอียดตามสำเนาภาพถ่ายตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.16 ในการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับเจ้าหนี้มีนายสุนทร พงษารัตน์ นายบุญ บุญบัวสุวรรณ และหม่อมราชวงศ์ทองแท่ง ทองแถม เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเป็นอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 15 ฉบับ และมีนางกรรณิการ์ บัวสุวรรณ เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเป็นอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเลขที่ 009 ถึง 017 รวม 9 ฉบับ ด้วยตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.16 นอกจากนั้นลูกหนี้ยังได้เสนอสิทธิในการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์มีมูลค่าตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อกล่าวคือ เมื่อลูกค้าผู้เช่าซื้อรถยนต์ของลูกหนี้ได้มาทำสัญญาเช่าซื้อกับลูกหนี้ ลูกหนี้จะนำสิทธิการโอนทะเบียนรถยนต์มามอบให้แก่เจ้าหนี้ โดยทำหนังสือมอบสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พร้อมทะเบียนรถยนต์ และสัญญาเช่าซื้อให้ไว้แก่เจ้าหนี้ โดยตกลงให้เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เป็นของเจ้าหนี้หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ในหนี้ประกันการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับเจ้าหนี้โดยได้มอบสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์รวม 196 คัน ตามรายละเอียดใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ของลูกหนี้เอกสารหมาย จ.18 จำนำไว้เป็นประกันหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2527 ลูกหนี้ได้ทำหนังสือสละสิทธิไล่เบี้ยว่า หากลูกหนี้ต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามที่ได้นำสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ไปจำนำเป็นประกันกับเจ้าหนี้ ดังกล่าวลูกหนี้จะไม่ไล่เบี้ยเอาจากโจทก์ หนังสือดังกล่าวคือการให้สัตยาบันของลูกหนี้ในการจำนำสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวแล้วเจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่าสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พร้อมทะเบียนรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อที่ลูกหนี้มอบให้เจ้าหนี้เป็นประกันหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้นั้น เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารแก่เจ้าหนี้หรือไม่ เห็นว่าสิทธิซึ่งมีตราสารย่อมหมายถึงตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามแบบพิธีในกฎหมายและเป็นตราสารที่โอนกันได้ด้วยวิธีของตราสารนั้น แต่ไม่หมายความถึงเอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นพยานหลักฐานแห่งสิทธิทั่ว ๆ ไปซึ่งสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พร้อมทะเบียนรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อที่ลูกหนี้มอบให้เจ้าหนี้เพื่อประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้นั้น หาได้มีลักษณะเป็นสิทธิซึ่งมีตราสารในความหมายดังกล่าวไม่ แม้สิทธิดังกล่าวอาจโอนแก่กันได้ก็เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องธรรมดาเท่านั้น การที่ลูกหนี้มอบสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พร้อมทะเบียนรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อแก่เจ้าหนี้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้ จึงไม่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารตามนัยมาตรา 750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96(3)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ดังที่เจ้าหนี้ฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่เจ้าหนี้ฎีกาต่อไปว่า แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเจ้าหนี้มิได้เป็นเจ้าหนี้มีประกันก็ตาม แต่ก็ชอบที่จะให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยกำหนดเงื่อนไขอย่างเจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกันมิใช่ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งหมดนั้น เห็นว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96(3)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เท่านั้นทั้งมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ต่อศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด ดังนี้ฎีกาของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share