คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1988/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรมโจทก์มี ผ.เป็นอธิบดีผ.มีคำสั่งมอบให้ช.รองอธิบดีรักษาราชการแทน ช.จึงมีอำนาจเช่นเดียวกับผ. ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ข้อ 44 วรรคแรก และ ช.มีอำนาจมอบให้ข้าราชการของโจทก์ ลงชื่อในสัญญารับทุนและสัญญาค้ำประกันแทนโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับทุนจากโจทก์ไปศึกษายังต่างประเทศโดยสัญญาว่าเมื่อสำเร็จแล้วจะกลับมารับราชการในส่วนราชการที่โจทก์กำหนดมีกำหนดระยะเวลา 2 เท่า แม้ระหว่างศึกษาจำเลยที่ 1จะยังคงมีสถานะเป็นข้าราชการก็ตาม แต่มิใช่เป็นการเข้ารับราชการหรือปฏิบัติราชการตามความหมายในสัญญารับทุน จำเลยที่ 1จึงไม่อาจนำเวลาที่ลาไปศึกษามารวมกับเวลาที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติราชการจริงภายหลังสำเร็จการศึกษาได้ ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดและต้องรับผิดในดอกเบี้ยต่อโจทก์เพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดเช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับเงินทุนจากโจทก์ไปศึกษายังต่างประเทศ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไปศึกษาแล้วกลับมารับราชการไม่ครบกำหนดเวลาตามสัญญาเป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 19,693.76เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทย 363,349.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2530ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,810 บาท และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันในต้นเงิน 19,693.76 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันชำระเงินต้นคืน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2กระทำไว้ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา เพราะผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับสัญญาไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ จำเลยที่ 1เข้ารับราชการใช้ทุนทั้งสิ้น 9 ปี 1 เดือน 6 วัน เกินกว่ากำหนดในสัญญา โจทก์คำนวณเวลารับราชการไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด หากจะรับผิดก็รับผิดไม่เกิน50,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 363,349.87บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่8 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นจากพยานหลักฐาน โจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อวันที่25 ตุลาคม 2516 จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากโจทก์ให้รับทุนภายใต้แผนโคลัมโบ อันเป็นทุนที่รัฐบาลออสเตรเลียมอบให้แก่รัฐบาลไทย เพื่อคัดเลือกบุคคลไปศึกษา ได้ทำสัญญาการรับทุนเพื่อไปศึกษาในประเทศออสเตรเลียกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 ได้ให้ความยินยอมและทำหนังสือค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ นายชิน ชุมนุม วิทยากรพิเศษของโจทก์เป็นผู้ลงนามในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแทนโจทก์จำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียตามทุนที่ได้รับเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2516 จนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2521จึงจบหลักสูตรในระดับปริญญาตรี สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2521 แล้วเข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างรับราชการ จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาสถิติ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2522 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2524 จากนั้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2524 จำเลยที่ 1 ได้ขอลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก แล้วเดินทางกลับประเทศไทยในปี 2530จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2530 จึงลาออกจากราชการ
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์คือ อธิบดีกรมวิเทศสหการ ซึ่งอธิบดี มีคำสั่งมอบให้รองอธิบดีรักษาการแทนตามเอกสารหมาย จ.23 โดยมิได้ให้อำนาจรองอธิบดีมอบอำนาจช่วงแก่บุคคลอื่นทำการแทน การที่นายชูชาติ ประมูลผลรองอธิบดีมอบอำนาจให้นายชิน ชุมนุม ลงลายมือชื่อในสัญญารับทุนของจำเลยที่ 1 และสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการมอบอำนาจช่วง หนังสือสัญญารับทุนเอกสารหมาย จ.3 และสัญญาค้ำประกันหมาย จ.5 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดด้วยนั้น ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะทำสัญญาในคดีนี้โจทก์มีนายผิว มูลสวัสดิ์ เป็นอธิบดี นายผิวได้มีคำสั่งมอบหมายให้นายชูชาติ ประมูลผล รองอธิบดีรักษาราชการแทนตามเอกสารหมาย จ.23 ซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218เรื่อง ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ข้อ 44 วรรคแรก ที่ใช้บังคับขณะนั้น บัญญัติให้ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจเช่นเดียวกับผู้ที่ตนแทน นายชูชาติจึงมีอำนาจมอบให้นายชินซึ่งมีตำแหน่งเป็นวิทยากรพิเศษลงลายมือชื่อในสัญญาการรับทุนและสัญญาค้ำประกันแทน ฉะนั้นนายชินจึงลงลายมือชื่อในสัญญาการรับทุนและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 แทนโจทก์ได้ทั้งในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ก็มีข้อความระบุไว้ชัดว่า จำเลยที่ 2 ขอทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ให้ไว้ต่อโจทก์ สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคแรก โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 2ตามสัญญาดังกล่าวได้
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกนั้น ถือได้ว่าเป็นการเข้ารับราชการหรือเข้าปฏิบัติราชการตามสัญญาการรับทุนเอกสารหมาย จ.3 เมื่อรวมเวลาที่ลาไปศึกษาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1จึงปฏิบัติตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ครบถ้วนแล้วนั้น เห็นว่าการลาไปศึกษาต่อแม้จำเลยที่ 1 จะยังคงมีสถานะเป็นข้าราชการและรับเงินเดือนอยู่ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการเข้ารับราชการหรือปฏิบัติราชการตามความหมายในสัญญาการรับทุน จึงไม่อาจนำเวลาที่ลาไปศึกษาต่อมารวมกับเวลาที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติราชการจริงได้
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเมื่อจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2530 จำเลยที่ 2จะต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือ จำเลยที่ 2จึงตกเป็นผู้ผิดนัดในวันที่ 20 ธันวาคม 2530 และต้องรับผิดในดอกเบี้ยต่อโจทก์นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2530 ไม่ใช่นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2530 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดนั้น ในข้อนี้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ตามสัญญาการรับทุน จะต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญาการรับทุนทั้งหมด ในคดีนี้จำเลยที่ 1 ผิดนัดและต้องรับผิดในดอกเบี้ยต่อโจทก์นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2530จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน

Share