แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ตายไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานทั้งสองคนแม้ขณะพยานทั้งสองลงลายมือชื่อเป็นพยาน ผู้ตายและพยานทั้งสองจะอยู่พร้อมหน้ากันก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ พินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ผู้คัดค้านในฐานะผู้รับพินัยกรรมจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายไม่มีสิทธิขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นน้องร่วมบิดามารดากับนายก้าน แสนกล้า นายก้านถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมและไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า นายก้าน แสนกล้า ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้ร้องแถลงคัดค้านว่า พินัยกรรมที่ผู้คัดค้านอ้างมานั้นเป็นพินัยกรรมปลอม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ยกคำร้องของผู้คัดค้านผู้ร้องหรือผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมระบุว่าให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ปรากฏตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.ค.8และ ร.ค.9 ปรากฏว่าพินัยกรรมทั้งสองฉบับนี้ทำเป็นเอกสารพิมพ์ดีดซึ่งเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา ผู้ทำพินัยกรรมจึงต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคแรก พินัยกรรมทั้งสองฉบับนี้มีผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานสองคนคือนายพลัน สุขสนิท และนายอ้วน แสนกล้า แต่นายพลันพยานผู้คัดค้านเบิกความว่า ขณะพยานลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม ผู้ตายได้ลงลายมือชื่อไว้ในพินัยกรรมก่อนแล้ว ผู้ตายจะลงลายมือชื่อไว้ในพินัยกรรมตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบนายอ้วนลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมต่อจากนายพลัน นายอ้วนพยานผู้คัดค้านเบิกความว่า ขณะลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมเห็นมีลายมือชื่อผู้ตายอยู่แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ตายไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าวต่อหน้านายพลันและนายอ้วน แม้ขณะนายพลันและนายอ้วนลงลายมือชื่อเป็นพยาน ผู้ตายและพยานทั้งสองจะอยู่พร้อมหน้ากันดังผู้คัดค้านฎีกาก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้พินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นพินัยกรรมที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคแรก ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ผู้คัดค้านมิได้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่อ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมเมื่อพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาต้องกันมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน