คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1926/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา จะนำดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันยื่นฎีกามารวมคำนวณด้วยไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก จำเลยมิได้ให้การว่าจำเลยได้กันเงินจำนวน 100,000 บาท ไว้เพื่อจัดการทำบุญและจัดงานศพให้แก่เจ้ามรดกในอนาคตแต่อย่างใดการที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมีสิทธิกันเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อทำบุญและจัดงานศพจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225วรรคแรก โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยมีข้อความว่า “วันที่ 14 มีนาคมถึง กิมเช็ง ทราบ เรื่องเงินเหลือจากจ่ายธนาคาร 1 ล้านบาทเอาไว้ทำบุญให้แม่เขา 1 แสนบาทกิมห้องให้ไป 1 แสนห้าหมื่น ส่วนเฮียเอา5หมื่นเหลือนอกนั้นให้อีแป๊วอีณีไปเพราะเฮียต้องเอามารักษาตัว ถ้าเฮียไม่เป็นอะไรก็จะไม่เอาหรอกเวลานี้เอ็งก็มีบ้านอยู่กันแล้ว ไม่เดือดร้อนอะไรแล้วถนอม” เอกสารดังกล่าวมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง เพราะเป็นแต่เพียงหนังสือที่โจทก์มีถึงจำเลยขอเงินส่วนแบ่งมรดกไปรักษาตัวจำนวน 50,000 บาท อันเป็นหนังสือที่โจทก์แสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียวไม่เข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีผลผูกพันให้โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเป็นจำนวนเพียง 50,000 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรและทายาทโดยธรรมของนางแอ๊ดมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยนายณรงค์ และนางละมัยซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว นางแอ๊ดถึงแก่ความตายด้วยโรคชราโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ นางแอ๊ดเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 117 จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางแอ๊ดตามคำสั่งศาล ต่อมาประมาณต้นปี 2531 จำเลยทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 2,900,000 บาทจำเลยมีหน้าที่ต้องแบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกให้แก่ทายาทของนางแอ๊ดส่วนแบ่งที่โจทก์พึงจะได้รับเป็นจำนวนเงิน 580,000 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า นายณรงค์และนางละมัยต่างมีผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้ ทรัพย์มรดกของนางแอ๊ดจึงตกได้แก่ทายาทจำนวนเท่า ๆ กันคิดเป็นจำนวน 7 ส่วน ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 117 จำเลยขายให้แก่บุคคลภายนอกได้เป็นเงิน2,000,000 บาท จำเลยได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระหนี้ที่เจ้ามรดกได้ก่อขึ้นในขณะที่มีชีวิตอยู่ให้แก่เจ้าหนี้ของเจ้ามรดกรวมทั้งชำระหนี้ที่จำเลยและทายาทอื่นต้องใช้จ่ายไปเกี่ยวกับการดูแลและการรักษาพยาบาลบิดาและเจ้ามรดกและเป็นหนี้บุคคลภายนอกเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 800,000 บาท กับยังได้ใช้จ่ายไปในการจัดการศพของเจ้ามรดกตามประเพณีอีกเป็นจำนวน 200,000 บาท คงเหลือเงินที่เป็นมรดกทั้งสิ้น 1 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยตามส่วนแล้วทายาท 7 คนจะได้รับส่วนแบ่งเพียงคนละ 142,857.14 บาท อย่างไรก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งตามส่วนดังกล่าว คงมีสิทธิได้รับมรดกเพียง 50,000 บาทเท่านั้น เพราะโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและตกลงสละมรดกส่วนที่ตนจะได้รับทั้งหมดโดยขอรับเพียง50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์เป็นเงิน264,285.71 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 10มิถุนายน 2531 (วันฟ้อง) จนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2531 (วันฟ้อง) จนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยฎีกาโดยขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับ (ที่ถูกคือพิพากษาแก้)คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งจำนวน 50,000 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกานั้นจะนำดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน200,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันยื่นฎีกามารวมคำนวณด้วยไม่ได้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยจึงมีจำนวนไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า เจ้ามรดกเป็นหนี้นายไพโรจน์ เลียบประเสริฐ (ที่ถูกคือเลื่อนประเสริฐ) จำนวน 150,000 บาท และจำเลยได้ใช้หนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่นายไพโรจน์ไปแล้ว เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ซึ่งวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่นายไพโรจน์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่าจำเลยมีสิทธิกันเงินจำนวน 100,000 บาท ไว้จัดการทำบุญและจัดงานศพให้แก่เจ้ามรดกในอนาคตเพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์เป็นการชอบหรือไม่ในปัญหานี้ปรากฏว่าจำเลยได้ให้การว่า จำเลยได้นำเงินที่ขายที่ดินมรดก 2,000,000 บาทไปชำระหนี้ที่เจ้ามรดกได้ก่อขึ้นในขณะที่มีชีวิตอยู่ให้แก่เจ้าหนี้ของเจ้ามรดก รวมทั้งชำระหนี้ที่จำเลยและทายาทอื่นได้ใช้จ่ายไปในการดูแลและการรักษาพยาบาลบิดาและเจ้ามรดก และเป็นหนี้บุคคลภายนอกเป็นจำนวนทั้งสิ้น 800,000 บาท กับยังได้ใช้จ่ายไปในการจัดการศพของเจ้ามรดกตามประเพณีอีกเป็นจำนวน 200,000 บาทโดยจำเลยมิได้ให้การว่า จำเลยได้กันเงินจำนวน 100,000 บาท ไว้เพื่อจัดการทำบุญและจัดงานศพให้แก่เจ้ามรดกในอนาคตแต่อย่างใดอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อดังกล่าวของจำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีและอุทธรณ์ว่าจำเลยนำที่ดินมรดกไปจำนองธนาคารก่อนที่จะมีการขายที่ดินนั้นขณะจำนองมิได้มีการชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้นให้แก่ธนาคาร นับตั้งแต่วันกู้จนถึงวันขายที่ดินและชำระหนี้เงินกู้ คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยสามารถนำมาหักหนี้กองมรดกได้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ชอบที่จะหักเงินดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวออกจากกองมรดกด้วย แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในประเด็นส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย เป็นทำนองว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีโดยไม่ชอบนั้น ปรากฏว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีตามที่จำเลยฎีกาดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้หักเงินดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ออกจากเงินมรดกก่อนแบ่งเงินมรดกให้แก่ทายาทของนางแอ๊ดเจ้ามรดกจึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อสุดท้ายว่าหนังสือตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกตามมาตรา1750(2) (ที่ถูกคือมาตรา 1750 วรรคสอง) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลผูกพันทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกเพียงจำนวน 50,000 บาท ตามสัญญานั้นหรือไม่ เมื่อคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้ว จากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า โจทก์ได้มีหนังสือเอกสารหมาย ล.1ถึงจำเลยมีข้อความว่า “วันที่ 14 มีนาคม ถึง กิมเช็งทราบ เรื่องเงินเหลือจากจ่ายธนาคาร 1 ล้านบาทเอาไว้ทำบุญให้แม่เขา 1 แสนบาทส่วนกิมห้องให้ไป 1 แสนห้าหมื่น ส่วนเฮียเอา 5 หมื่น เหลือนอกนั้นให้อีแป๊ว อีณีไป เพราะเฮียต้องเอามารักษาตัว ถ้าเฮียไม่เป็นอะไรก็จะไม่เอาหรอก เวลานี้เอ็งก็มีบ้านอยู่กันแล้ว ไม่เดือดร้อนอะไรแล้ว ถนอม” เห็นว่า เอกสารหมาย ล.1 นั้นมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1750 วรรคสอง เพราะ เป็นแต่เพียงหนังสือที่โจทก์มีถึงจำเลยขอเงินส่วนแบ่งมรดกไปรักษาตัวจำนวน 50,000 บาท อันเป็นหนังสือที่โจทก์แสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียว ไม่เข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่มีผลผูกพันให้โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเป็นจำนวนเพียง50,000 บาท ตามที่จำเลยฎีกา โจทก์ยังคงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกตามสิทธิของโจทก์ ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาสำหรับทุนทรัพย์จำนวน 250,000 บาท เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยมีจำนวนเพียง 200,000 บาท จำเลยจึงเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเกินมา”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จำเลยเสียเกินมาแก่จำเลย

Share