คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1652/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยจัดเวลาพักให้แก่ลูกจ้างเป็น 3 ช่วง คือ 10-10.10 นาฬิกา12.15-13 นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกา แม้เวลาพักช่วง 10-10.10นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกา จะเป็นการพักน้อยกว่าครั้งละ 20 นาทีไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 6 วรรคสอง แต่เวลาที่กำหนดไว้ทั้งสองช่วงดังกล่าว จำเลยกำหนดให้ลูกจ้างได้หยุดพักและอยู่ในระหว่างเวลาทำงาน จึงต้องนับเป็นเวลาพักด้วย เมื่อรวมแล้วเป็นเวลาพักวันละ 1 ชั่วโมง 5 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6 วรรคแรก กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีเวลาพักเพียงวันละ 45 นาที ทั้งการที่จำเลยกำหนดเวลาพักไม่ถูกต้องก็หาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดให้โจทก์เรียกค่าจ้างเพราะเหตุดังกล่าวได้ กรณีมิใช่การกำหนดเวลาพักน้อยกว่าวันละ 1ชั่วโมง อันจะถือว่าจำเลยให้โจทก์ทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติในแต่ละวัน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่าโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามเป็นลูกจ้างของจำเลย วันเข้าทำงานและค่าจ้างอัตราสุดท้ายปรากฏตามฟ้อง กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันที่ 30 ของเดือน วันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ จำเลยให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามเข้าทำงานเป็นกะหมุนเวียนกันไป พนักงานที่ทำงานภายในเวลา 8 ชั่วโมง จำเลยให้พักเพียงวันละ 45 นาที ซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจะต้องให้โจทก์พักอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงจึงขาดไปวันละ 15 นาที การกระทำของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2534 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2536 จำเลยยังค้างค่าจ้างระหว่างพักงานโจทก์อยู่วันละ 15 นาที คิดเป็นเงินตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน และจำเลยยังค้างค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามสำนวนให้การว่า สิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างก่อนวันที่ 28 กันยายน 2534 ขาดอายุความ ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม 2534 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2536 โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามมีวันทำงานเพียงคนละไม่เกิน 515 วัน จำเลยจัดให้พวกโจทก์และลูกจ้างของจำเลยทั้งหมดมีเวลาพักคนละ 65 นาที ทุกวันตามประกาศฉบับที่ 1/2534 ซึ่งนับแต่วันที่ออกประกาศฉบับดังกล่าวเป็นต้นมาลูกจ้างทั้งหมดของจำเลยรวมทั้งพวกโจทก์ได้ยึดถือปฏิบัติตามโดยมิได้โต้แย้งคัดค้าน อีกทั้งสหภาพแรงงาน เอ.พี แนชั่นแนลอันเป็นสหภาพแรงงานในกิจการของจำเลยซึ่งมีลูกจ้างของ จำเลยเป็นสมาชิกเกินกว่าสองในสามของลูกจ้างทั้งหมดก็ยอมรับและให้สัตยาบันต่อประกาศดังกล่าว จำเลยจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยเป็นฟ้องเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับกันว่า ก่อนเดือนพฤษภาคม2534 เวลาทำงานปกติของจำเลยคือ 8-17 นาฬิกา เวลาพัก 10-10.10นาฬิกา 12-13 นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2534มีการย้ายโรงงานของจำเลยจากอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการไปอยู่ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้มีเวลาสำหรับการเดินทางไปทำงานที่ใหม่ จำเลยจึงเปลี่ยนเวลาทำงานปกติเป็น8.30-17.15 นาฬิกา กับเปลี่ยนเวลาพักเป็น 10-10.10 นาฬิกา 12.15-13นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกา ต่อมาสหภาพแรงงาน เอ.พี. เนชั่นแนลได้ไปร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทราว่าจำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้าง ในที่สุดมีการตกลงกันว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าตอบแทนน้ำใจเพิ่มให้แก่พนักงานทุกคนเป็นรายเดือน เดือนละ 55 บาท และคู่ความแถลงขอสละประเด็นข้อพิพาทข้ออื่นทั้งหมดโดยให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่าระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2534 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2536 โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน 15 นาที หรือไม่
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ระหว่างวันที่ 28 กันยายน2534 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2536 จำเลยกำหนดเวลาทำงานปกติตั้งแต่8.30-17.15 นาฬิกา เวลาพัก 10-10.10 นาฬิกา 12.15-13 นาฬิกาและ 15-15.10 นาฬิกา แม้รวมเวลาพักแล้วจะเกิน 1 ชั่วโมง แต่มิใช่เป็นการจัดให้โจทก์แต่ละคนมีเวลาพักติดต่อกันไม่น้อยกว่าวันละ 1ชั่วโมง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 18พฤษภาคม 2535 ก็มิได้เป็นข้อตกลงล่วงหน้าและยังเป็นข้อตกลงที่กำหนดให้การพักแต่ละครั้งต้องไม่น้อยกว่าครั้งละ 20 นาที อีกทั้งงานของจำเลยมิใช่เป็นงานฉุกเฉินโดยจะหยุดเสียมิได้ โจทก์แต่ละคนจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน 15 นาที
จำเลยทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าจำเลยจัดเวลาพักให้แก่ลูกจ้างเป็น3 ช่วง คือ 10-10.10 นาฬิกา 12.15-13 นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกาเห็นว่า แม้เวลาพักช่วง 10-10.10 นาฬิกา และ 15-15.10 นาฬิกาจะเป็นการพักน้อยกว่าครั้งละ 20 นาที ไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 6 วรรคสอง แต่เวลาที่กำหนดไว้ทั้งสองช่วงดังกล่าวจำเลยกำหนดไว้ให้ลูกจ้างได้หยุดพักและอยู่ในระหว่างเวลาทำงาน จึงต้องนับเป็นเวลาพักด้วย ซึ่งเมื่อรวมกับเวลาพักช่วงระหว่าง 12.15-13 นาฬิกา แล้ว จำเลยกำหนดเวลาพักให้แก่โจทก์แต่ละคนวันละ 1 ชั่วโมง 5 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 6 วรรคแรก กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีเวลาพักเพียงวันละ 45นาที ดังที่โจทก์อ้างมาในฟ้องทั้งการที่จำเลยกำหนดเวลาพักไม่ถูกต้องดังกล่าวข้างต้น ก็หาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดให้โจทก์เรียกค่าจ้างเพราะเหตุดังกล่าวได้ กรณีมิใช่การกำหนดเวลาพักน้อยกว่าวันละ1 ชั่วโมง อันจะถือว่าจำเลยให้โจทก์ทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติในแต่ละวัน วันละ 15 นาที ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 โจทก์ที่15 ถึง ที่ 62 และโจทก์ที่ 64 ถึงที่ 164 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share