คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1553/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เล่นแชร์กับจำเลยโดยโจทก์เป็นนายวง จำเลยประมูลแชร์ได้และออกเช็คให้แก่ลูกวงคนอื่น ๆ ไว้ เมื่อเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ในฐานะนายวงได้ชำระเงินตามเช็คไปแล้ว โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยอันเป็นการเรียกเงินที่ออกทดรองไปก่อนคืน สิทธิเรียกร้องเช่นนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลย และบุคคลอื่นเล่นแชร์กันโดยโจทก์เป็นนายวง จำเลยประมูลได้และรับเงินไปแล้วได้ออกเช็คให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ต่อมาเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ต้องชำระเงินแทนจำเลยไป ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์หมดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2527เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงิน 70,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 15 กันยายน2532 ซึ่งเป็นวันฟ้องย้อนลงไปเป็นเวลา 5 ปี และนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามข้อตกลงในการเล่นแชร์ในคดีนี้นายวงเท่านั้นที่จะได้รับเงินเป็นคนแรกโดยไม่ต้องประมูล ส่วนลูกวงทุกคนจะมีสิทธิได้รับเงินก็ต่อเมื่อชนะการประมูลซึ่งจะทำกันเป็นรายเดือน ลูกวงผู้รับเงินไปก่อนแล้วจะต้องชำระเงินคืนแก่ลูกวงที่ยังประมูลไม่ได้โดยตรงเมื่อลูกวงคนนั้นชนะการประมูลในครั้งต่อไป แต่การชำระคืนให้แก่ลูกวงแต่ละคน จะต้องชำระให้หมดสิ้นตามสิทธิที่ลูกวงคนนั้นจะได้รับในคราวเดียวถ้าไม่ชำระคืนดังกล่าวนายวงต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ค้ำประกันจ่ายทดรองไป แล้วรับช่วงสิทธิไปเรียกเอาอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น เงินที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยก็คือเงินที่โจทก์จ่ายทดรองแทนจำเลยไปให้แก่ลูกวงคนอื่น กรณีจึงมิใช่เป็นการเรียกเงินที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม (มาตรา 193/33 ที่แก้ไขใหม่) แต่เป็นการเรียกเงินที่ออกทดรองไปก่อนคืน อายุความเรียกร้องในกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30ที่แก้ไขใหม่) มิใช่ห้าปีดังที่จำเลยอ้าง ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share