คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1546/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยฟังว่า จำเลยที่ 1รับโอนที่พิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำพิพากษาดังกล่าวผูกพันคู่ความจนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือยกเสีย ดังนั้นในคดีนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์เกี่ยวกับที่พิพาท การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 นำไปจำนองกับจำเลยที่ 3 ย่อมมิอาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 มาใช้บังคับ โจทก์ไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายที่พิพาทของจำเลยที่ 1 และการจำนองที่พิพาทของจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2532นางเรณู เมฆอุไร ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 35615ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จากนายติ๊บสุวรรณบุตร และนางเรณูทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ต่อมาจำเลยที่ 1 ร่วมกับนางเรณูรับโอนที่ดินดังกล่าวโดยไม่สุจริตจากนายติ๊บไว้แทนนางเรณู โดยจำเลยที่ 1 มิได้เสียค่าตอบแทนเมื่อวันที่ มกราคม 2533 โจทก์ยื่นฟ้องนางเรณูและจำเลยที่ 1ต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 64/2533 ให้บังคับจำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนที่พิพาทคืนนางเรณู กับให้นางเรณูจดทะเบียนโอนขายที่พิพาทแก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางเรณูคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1925/2533 โดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 รับโอนที่พิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับจำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้โจทก์ โจทก์คงมีสิทธิบังคับคดีได้เฉพาะนางเรณูเท่านั้น โจทก์อุทธรณ์ ปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2534จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยทราบอยู่แล้วว่าที่พิพาทกำลังเป็นคดีความกัน ระหว่างโจทก์กับนางเรณูและจำเลยที่ 1 และเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่พิพาทเป็นประกันหนี้ไว้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์กำลังฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 1 ให้โอนที่พิพาทคืนนางเรณูแล้วให้นางเรณูขายที่พิพาทให้โจทก์ต่อไปการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นไปโดยไม่สุจริต และรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และเพิกถอนการจำนองที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนเพิกถอนการซื้อขายและจำนองต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสันป่าตอง หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามต่อไป
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 อันถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นบุคคลภายนอกก็ตามเมื่อคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการโต้แย้งต่อสิทธิของโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตามเหตุผลดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเช่นเดียวกัน จึงให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าศาลชั้นต้นควรรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาหรือไม่ ปรากฏตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1925/2533 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ฟ้องนางเรณู เมฆอุไร เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้โดยฟังว่าจำเลยที่ 1 รับโอนที่พิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความในคดีนั้น จนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก ฉะนั้นในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงยังไม่มีหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งก็คือโจทก์มิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2นำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 ย่อมมิอาจจะนำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 มาใช้บังคับได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2กับจำเลยที่ 3 ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share