คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีหมายเรียกถึงผู้จัดการของจำเลยภายหลังที่จำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัท เพื่อให้ไปให้ถ้อยคำและชี้แจงเกี่ยวกับภาษีรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2517-2518 โดยมิได้มีหมายเรียกไปถึงผู้ชำระบัญชีซึ่งมีอำนาจหน้าที่จึงไม่ชอบและแม้ผู้จัดการของจำเลยได้มอบอำนาจให้ผู้ชำระบัญชีไปให้ถ้อยคำชี้แจงต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ก็เป็นการมอบอำนาจที่ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจจะกระทำได้มาแต่ต้นจึงไม่มีผลแต่อย่างใด และไม่อาจถือได้ว่าผู้ชำระบัญชีได้ทราบโดยชอบแล้ว เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายกับภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังกรรมการและผู้จัดการของจำเลยซึ่งไม่มีอำนาจเป็นการแจ้งการประเมินโดยไม่ชอบ กรรมการหรือผู้จัดการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนนิติบุคคลนั้นย่อมหมายถึงกรรมการหรือผู้จัดการที่มีอำนาจดำเนินการแทนโดยชอบอยู่มิได้หมายความถึงกรรมการหรือผู้จัดการที่ไม่มีอำนาจแล้ว กรณีที่จำเลยจดทะเบียนเลิกบริษัทและแต่งตั้งผู้ชำระต่อไปคือผู้ชำระบัญชีซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยแจ้งการประเมินภาษีอากรแล้ว จำเลยยังไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรได้ จึงถือไม่ได้ว่าหนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตามมาตรา 9(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เพราะอาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้จำนวนดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัท เมื่อวันที่ 10ตุลาคม 2520 โดยในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2517-2518 จำเลยจะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มจำนวน 297,123.53 บาทและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและเงินเพิ่มอีกจำนวน287,136.65 บาท แก่โจทก์ รวมเป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยต้องชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 544,660.18 บาท เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว และได้กำหนดให้จำเลยนำเงินภาษีอากรดังกล่าวไปชำระแต่จำเลยก็มิได้ชำระภายในกำหนด ทั้งมิได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย หนี้ภาษีอากรดังกล่าวจึงเป็นหนี้ภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวได้ แต่จำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยจัดการนำเงินภาษีอากรค้างดังกล่าวไปชำระรวม 2 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ผู้ชำระบัญชีของจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวไว้แล้วแต่เพิกเฉยมิได้นำเงินภาษีอากรค้างดังกล่าวไปชำระให้แก่โจทก์จำเลยจึงเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว คดีของโจทก์ขาดอายุความ ทั้งหนังสือแจ้งการประเมินให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณที่จ่ายโจทก์ส่งไม่ชอบขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2520 โดยมีนายประยูรเป็นผู้ชำระบัญชีซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 บัญญัติว่า”ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็น เพื่อการชำระบัญชีมาตรา 1250 บัญญัติว่า”หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น” และมาตรา 1259 ยังบัญญัติว่า”ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1)….(2)ดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามแต่จำเป็นเพื่อการชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดี (3)… ดังนั้น เมื่อจำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว ผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจดำเนินกิจการของจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าว กรรมการหรือผู้จัดการของจำเลยหามีอำนาจดำเนินกิจการของจำเลยอีกต่อไปไม่ การที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีหมายเรียกถึงผู้จัดการของจำเลยภายหลังที่จำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วเพื่อให้ไปถ้อยคำและชี้แจงเกี่ยวกับภาษีรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2517-2518 โดยมิได้มีหมายเรียกไปถึงผู้ชำระบัญชีซึ่งมีอำนาจหน้าที่จึงไม่ชอบ และแม้ผู้จัดการของจำเลยได้มอบอำนาจให้ผู้ชำระบัญชีไปให้ถ้อยคำชี้แจงต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ ก็เป็นการมอบอำนาจที่ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจจะกระทำได้มาแต่ต้น จึงไม่มีผลแต่อย่างใด และไม่อาจถือได้ว่าผู้ชำระบัญชีได้ทราบโดยชอบแล้ว ทั้งการที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายกับภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังกรรมการและผู้จัดการของจำเลยซึ่งไม่มีอำนาจแล้วก็เป็นการแจ้งการประเมินโดยไม่ชอบด้วยเช่นกันที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 7 บัญญัติว่า “บรรดารายการ รายงานหรือเอกสารอื่น ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องนำยื่นนั้น ให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ” ย่อมหมายถึงกรรมการหรือผู้จัดการที่ยังมีอำนาจดำเนินการแทนโดยชอบอยู่มิได้หมายความถึงกรรมการหรือผู้จัดการที่ไม่มีอำนาจแล้ว กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้รับแจ้งการประเมินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวแล้ว จำเลยยังไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรได้ จึงถือไม่ได้ว่าหนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตามมาตรา 9(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เพราะอาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้จำนวนดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายได้
พิพากษายืน

Share