แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าของอาคารที่ได้ปลูกสร้างมาก่อนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ออกใช้บังคับโดยมีแนวอาคารและระยะขัดกับข้อบัญญัติดังกล่าว ต่อมาจำเลยได้ขออนุญาตต่อโจทก์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 เพื่อทำการซ่อมแซมอาคารดังกล่าวโจทก์อนุญาต หลังจากนั้นจำเลยได้ทำการดัดแปลงต่อเติมอาคารนอกเหนือไปจากแบบแปลนที่ได้ขออนุญาตไว้ โดยต่อเติมด้านหลังอาคารซึ่งเดิมเป็นชั้นเดียวให้เป็นสองชั้น และมีชั้นดาดฟ้าด้วยการสร้างฐานราก เสาตอหม้อ คานคอดิน คานชั้นสอง คานรับดาดฟ้า หลังคาขยายพื้นชั้นสองขนาดประมาณ 24.86 ตารางเมตร ต่อเติมพื้นชั้นดาดฟ้าขนาดประมาณ 18.48 ตารางเมตร เพิ่มหลังคามุมห้องบันได สร้างผนังอิฐกั้นห้องชั้นสอง ซึ่งการดัดแปลงต่อเติมดังกล่าวได้สร้างปิดทางเดินด้านหลังอาคาร สภาพและลักษณะของการต่อเติมและขยายอาคารของจำเลยดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม แต่เป็นการดัดแปลงอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 22 เดิม,31 เดิม และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30,76,83 และเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารที่พักอาศัยส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมผิดไปจากแบบที่ได้รับใบอนุญาตให้ซ่อมแซมออกจากอาคารตึกแถวเลขที่ 49/2-49/3 ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมดังกล่าว ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40, 41, 42โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ขออนุญาตซ่อมแซมตึกแถวสองชั้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 และได้รับอนุญาตแล้ว จำเลยได้ก่อสร้างดัดแปลงอาคารดังกล่าวตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 21, 22, 31 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30, 76, 83 ทุกประการ จำเลยเพิ่มชั้นหรือขยายชั้นที่สองเพียง 6 ตารางเมตรเท่านั้น ไม่ขัดต่อข้อบัญญัติจำเลยเพิ่มฐานราก เสาตอหม้อ คานคอดิน คานชั้นสอง และคานรับดาดฟ้าหลังคาเพื่อให้เกิดการรับน้ำหนักอาคารเพียงพอกับตัวอาคารเพื่อความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัย เป็นการป้องกันอุบัติภัยอันอาจจะเกิดจากตัวอาคารทรุด เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงอาคารเพื่อความเป็นระเบียบและสวยงาม ไม่ขัดกับข้อบัญญัติที่จะต้องได้รับอนุญาตก่อน แม้การเพิ่มผนังอิฐห้องชั้นสอง พื้นชั้นสอง พื้นชั้นดาดฟ้า เพิ่มหลังคาคลุมห้องบันได เพิ่มคานชั้นสอง และคานรับดาดฟ้าหลังคา เป็นการเพิ่มน้ำหนัก แต่ก็ไม่เกินร้อยละ 10 ที่จะต้องได้รับอนุญาตก่อนตามข้อบัญญัติแต่อย่างใด ทางเดินด้านหลังอาคารถูกอาคารที่อยู่ข้างเคียงทั้งสองด้านรวมทั้งอาคารด้านหลังปิดล้อมไว้อยู่แล้วทั้งสามด้าน ไม่อาจใช้เป็นทางเดินผ่านถึงกันได้ จำเลยนำที่ว่างด้านหลังอาคารดังกล่าวมาปรับปรุงให้เป็นที่อาศัยของจำเลยเพื่อความเป็นระเบียบและความสวยงามของอาคารไม่ขัดกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อ 76(4) อาคารของจำเลยสร้างมาก่อนที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2522 จะใช้บังคับ มีแนวอาคาร และระยะขัดต่อข้อบัญญัติดังกล่าวอยู่แล้ว การก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารดังกล่าวเป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อ 83 มิได้ขัดหรือฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนด้านหลังอาคารส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมผิดไปจากแบบที่ได้รับใบอนุญาตให้ซ่อมแซมออกจากตึกแถวเลขที่ 49/2-49/3 หากจำเลยไม่รื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมดังกล่าว ให้โจทก์ เป็นผู้รื้อถอนได้โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง ซึ่งคู่ความไม่ได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองตึกแถวสองชั้นเลขที่ 49/2-49/3ตึกแถวดังกล่าวเป็นอาคารที่ได้ปลูกสร้างมาก่อนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ออกใช้บังคับโดยมีแนวอาคารและระยะขัดกับข้อบัญญัติดังกล่าว จำเลยได้ขออนุญาตต่อโจทก์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 เพื่อทำการซ่อมแซมอาคารดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.4 และแผนผังบริเวณแบบแปลน เอกสารหมาย จ.11โจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยซ่อมแซมอาคารดังกล่าวตามใบอนุญาตเอกสารหมายจ.15 หลังจากนั้นจำเลยได้ทำการดัดแปลงต่อเติมอาคารนอกเหนือไปจากแบบแปลนที่ได้ขออนุญาตไว้ โดยทำการต่อเติมด้านหลังอาคารซึ่งเดิมเป็นชั้นเดียวให้เป็นสองชั้นและมีชั้นดาดฟ้าด้วยการสร้างฐานรากเสาตอหม้อ คานคอดิน คานชั้นสอง คานรับดาดฟ้าหลังคา ขยายพื้นชั้นสองขนาดประมาณ 24.86 ตารางเมตร ต่อเติมพื้นชั้นดาดฟ้าขนาดประมาณ18.48 ตารางเมตร เพิ่มหลังคามุมห้องบันไดสร้างผนังอิฐกั้นห้องชั้นสอง ซึ่งการดัดแปลงต่อเติมดังกล่าวได้สร้างปิดทางเดินด้านหลังอาคาร ซึ่งจะต้องเว้นไว้เป็นที่ว่าง 2 เมตร
จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้ต่อเติมหรือขยายอาคารตึกแถวผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตแต่ประการใด เพื่อความเป็นระเบียบและความสวยงามตลอดจนเพื่อความคงทนแข็งแรง จำเลยได้ดัดแปลงหลังคาเป็นสองชั้น โดยเพิ่มฐานราก เสาตอหม้อ คานคอดิน คานชั้นสองคานรับดาดฟ้าหลังคา ขยายพื้นชั้นสอง พื้นดาดฟ้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ทำหลังคาห้องบันได ก่ออิฐกั้นห้องชั้นสองโดยแยกดัดแปลงซ่อมแซมอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งจำเลยมีสิทธิทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตโจทก์ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 83 พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ดัดแปลงต่อเติมอาคารนอกเหนือไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ตามที่กล่าวแล้วโดยสภาพและลักษณะของการต่อเติมและขยายอาคารของจำเลย ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามดังฎีกาของจำเลย แต่เป็นการดัดแปลงอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22 เดิม, 31 เดิมและข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 30, 76, 83 และเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติได้ ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษามาชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน